31.2 C
Nakhon Sawan
วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img

กฎหมายเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ

การตั้งด่านตรวจเป็นสิ่งสำคัญของการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จากการศึกษาประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมานานจนไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มมาแต่ยุคใดสมัยใด อาจเกิดจากสมัยที่มนุษย์เริ่มอยู่กันแบบเป็นกลุ่มหรือชุมชนและมีการกำหนดเขตแดน โดยมีการตั้งด่านตรวจบริเวณทางเข้า-ออกเขตแดนของชุมชน เมื่อเขตแดนมีอาณาจักรกว้างขวางมากขึ้น จึงมีการตั้งด่านตรวจภายในบริเวณเขตแดนด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเส้นทางผ่านที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือเพื่อป้องกันกบฏหรือป้องกันสายลับของข้าศึกหรือป้องกันการรุกรานจากอาณาจักรอื่นๆ เป็นบริการสาธารณะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้ประชาชน

ในยุคปัจจุบันการตั้งด่านตรวจถือเป็นรายได้หลักอันมหาศาลของสำนักงานตำรวจ ซึ่งบาง สน. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำยอดรายเดือนเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดจากการตั้งด่านตรวจ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่ารายได้ที่เกิดจากการตั้งด่านตรวจหน่วยงานรัฐมีการทำบัญชีหรือไม่? รายได้ส่วนนี้นำใช้อะไรบ้าง? มีการตรวจสอบการทุจริตหรือยักยอกรายได้หรือไม่? ซึ่งประชาชนทุกคนอาจยอมรับกับการเสียค่าปรับ และถ้านำเงินค่าปรับไปพัฒนาประเทศ อาจทำให้เกิดความรู้สึกดีระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ

ดังนั้นจะได้อธิบายหลักกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ มีสาระสำคัญดังนี้

หลักการและแนวทางการตั้งจุดตรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2566 การตั้งด่านตรวจมีการตั้งด่านอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. 1. ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร โดยได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน.แล้วแต่กรณี
  2. จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถเป็นการชั่วคราวแต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที โดยจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาชั้นผู้บังคับการขึ้นไปของหน่วยที่ขอตั้งจุดตรวจนั้นๆ
  3. จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว

การตั้งจุดตรวจ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวงนั้น ได้มีการแบ่งขั้นตอนออกเป็น 5 ส่วน คือ (1) พื้นที่เฝ้าระวังสังเกตรถต้องสงสัย (2) พื้นที่คัดกรอง (3) พื้นที่ตรวจค้นและกองอำนวยการ (4) พื้นที่คอยสกัดรถ และ (5) พื้นที่ควบคุมผู้กระทำผิด

  1. เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสังเกตรถต้องสงสัย ได้แก่ ป้ายแจ้งเตือน ซึ่งจะแสดงข้อความว่าอีกกี่เมตรจะถึงจุดตรวจ โดยตั้งห่างจากส่วนคัดกรองประมาณ 150 เมตร เป็นระยะที่ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในที่ซ่อนพราง ไม่ปรากฏกาย ซึ่งหากพบรถต้องสงสัย มีความผิดปกติหรือไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จะมีการแจ้งประสานไปยังส่วนคัดกรองทันที
  2. 2. เป็นพื้นที่คัดกรอง ได้แก่ (1) ป้ายไฟเตือนแสดงข้อความว่าข้างหน้ามีจุดตรวจหรือด่านตรวจ (2) ป้ายไฟจุดตรวจ แสดงให้ทราบว่าเป็นจุดตรวจของ สน.หรือ สภ. ใด และมีผู้ใดเป็นผู้ควบคุม (3) กรวยยางและรถตำรวจ โดยจอดเฉียง 45 องศา เพื่อบีบการจราจร และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ในการปฏิบัติจะมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 2 นาย ทำหน้าที่คัดกรองรถต้องสงสัย และแจ้งให้รถต้องสงสัยไปยังพื้นที่ตรวจค้น
  3. 3. พื้นที่ตรวจค้นและกองอำนวยการ ได้แก่ (1) ป้ายแสดงขั้นตอนการปฏิบัติของผู้ขับขี่ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเข้าไปในพื้นที่ตรวจค้น (2) กล้องวงจรปิด ที่จะมีการบันทึกการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดการตั้งจุดตรวจ (3) พื้นที่อำนวยการ สำหรับผู้ควบคุมจุดตรวจเพื่อควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และให้บริการประชาชนที่เข้ามายังจุดตรวจ (4) ป้าย QR Code ประเมินความพึงพอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่

การปฏิบัติเมื่อรถต้องสงสัยจากพื้นที่คัดกรองเข้ามาในพื้นที่ตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการตรวจค้นโดยตรวจค้นผู้ขับขี่และผู้โดยสารก่อน  โดยการตรวจแบบตามหลักยุทธวิธี จากนั้นจะทำการตรวจค้นรถหรือ จะมีกล้องวงจรปิดบันทึกการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากมีการตรวจค้นพบการกระทำความผิด จะควบคุมตัวผู้กระทำความผิดมายังพื้นที่อำนวยการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรณีตรวจค้นไม่พบการกระทำความผิดจะให้ผู้ขับขี่สแกน QR Code เพื่อประเมินความพึงพอใจก่อนออกจากจุดตรวจ

  1. พื้นที่คอยสกัดรถ ได้แก่ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำรถ และอุปกรณ์หยุดรถ เช่น Stop Stick เพื่อทำหน้าที่สกัดรถต้องสงสัยหรือรถที่มีพฤติการณ์หลบหนีออกจากจุดตรวจ
  2. พื้นที่ควบคุมผู้กระทำผิด ได้แก่ รถควบคุม พร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้กระทำความผิดอย่างน้อย 2 นาย ทำหน้าที่ควบคุมผู้กระทำความผิดซึ่งถูกส่งตัวจากพื้นที่ตรวจค้น ควบคุมตัวไปยัง สน.หรือ สภ. หรือพื้นที่ทำการ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมพื้นที่ อุปกรณ์ และกำลังพลในการตั้งจุดตรวจเรียบร้อยแล้วจะมีการเข้าแถวรวมพลเพื่อชี้แจงข้อปฏิบัติและตรวจตราความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย แล้วจึงสามารถดำเนินการดูแลประชาชนได้ ซึ่งหากรถยนต์ของประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่ตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หรือการกระทำผิดอื่นๆ ก็จะให้ขับรถออกไปจากจุดตรวจค้นได้ทันที แต่หากกรณีที่มีการค้นพบสิ่งผิดกฎหมายหรือการกระทำผิดอื่นๆ จะมีการเชิญลงจากรถเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจค้นโดยละเอียด และแจ้งข้อกล่าวหาที่ตรวจพบ จากนั้นจึงควบคุมตัวผู้กระทำผิดขึ้นรถที่จัดเตรียมไว้

ในกรณีที่มีการพยายามหลบหนีจุดตรวจ หรือพยายามขับรถหนีซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจจะเกิดจากกระทำผิดกฎหมายหรือมึนเมา เจ้าหน้าที่จะมีการนำอุปกรณ์ Stop Stick เข้าขัดขวางโดยทันทีเพื่อให้รถดังกล่าวไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้

ผู้อ่านควรศึกษาเพิ่มเติมจากคู่มือการตั้งด่านตรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจ ซึ่งประชาชนหลายคนอาจพบเห็นการตั้งด่านตรวจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การตรวจจับความเร็วที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ควรมีกฎหมายที่ถูกต้องเข้ายืนยันกับเจ้าหน้าที่ ประกอบกับทางหน่วยงานรัฐควรมีมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่มีการตั้งด่านตรวจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือตั้งด่านตรวจที่สื่อไปทางทุจริตหรือยักยอกค่าปรับของประชาชน ควรมีการเปิดเผยบัญชีค่าปรับต่อประชาชน

ซึ่งในสังคมปัจจุบันประเทศต่างๆ มีการแสวงผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจข้ามชาติกันมากขึ้น สังเกตได้จากในกรุงเทพมหานคร เขตสีลม สาทร อโศก ทองหล่อ เอกมัย เพลินจิต รัชดา ห้วยขวาง บางนา และชิดลม กรุงเทพฯ อาจจะเป็นศูนย์กลางของที่พักอาศัยของชาวต่างชาติหรือนักธุรกิจข้ามชาติ ทำให้เกิดปัญหาการก่ออาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ เช่น ขนส่งยาเสพติด ขนส่งอาวุธเถื่อน การค้ามนุษย์ การจัดทำสื่อลามกอนาจาร การประกอบธุรกิจขนาดใหญ่โดยใช้ชื่อคนไทย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขนส่งสินค้าหนีภาษีนำมาขายตัดราคากัน ฯลฯ และการกระทำความผิดดังกล่าวกระจายออกต่างจังหวัดมากมาย

การตั้งด่านตรวจจึงเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการควบคุมการกระทำความผิดต่างๆ ขอบคุณครับ

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

(ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์)

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด