31.2 C
Nakhon Sawan
วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img

จังหวัดนครสวรรค์ Kick-Off ความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ TGC EMC

จังหวัดนครสวรรค์ เปิดตัวโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Cooperation on Energy, Mobility and Climate) หรือ TGC EMC

เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ที่ห้องสัมมนา กองเสบียงฟาร์ม จังหวัดนครสวรรค์ นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานเปิดตัวโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Cooperation on Energy, Mobility and Climate) หรือ TGC EMC โดยมี ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว / นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร / ดร.กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยคุณลิสา เฟาสต์ ผู้จัดการโครงการ TGC-EMC หัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนจากหน่วยต่างๆ เข้าร่วมงานดังกล่าว

โครงการ TGC EMC กลุ่มงานชีวมวล เป็นโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน มุ่งเน้นการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลและลดปัญหาการเผาในที่โล่ง โดยได้รับการบูรณาระหว่างภาคการเกษตร ภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และการขนส่งตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) นอกจากนี้ยังสนับสนุนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่การดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์

ทางด้าน นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่าจังหวัดนครสวรรค์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการปลูกข้าวและอ้อยมากที่สุดในประเทศ จึงมีวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเช่น ฟางข้าวและใบอ้อย เป็นจำนวนมาก วัสดุเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการเผาทิ้ง โดยการเผาไม่เพียงแต่ทำให้สูญเสียทรัพยากรที่มีค่า แต่ยังทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม หากเรานำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน นอกจากจะสามารถช่วยลดปัญหาการเผาในที่โล่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรอีกด้วย

นอกจากนี้ ในงานยังมีกลุ่มเกษตรกร 10 กลุ่มที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่าย เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ น้ำตาลอ้อย ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์จากถ่านไบโอชาร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นแล้ว ยังนับเป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกรด้วย

——————————-

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด