การวิวัฒนาการของกฎหมายไทยนั้น กฎหมายถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม โดยเฉพาะสังคมของมนุษย์ มิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน การทำร้ายกดขี่ข่มเหงรังแกซึ่งกันและกัน การศึกษาเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของกฎหมายอาจทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น และเข้าใจการวิวัฒนาการของพฤติกรรมมนุษย์และความเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากกฎหมายส่วนมากจะเคลื่อนไหวหรือวิวัฒนาการตามหลังพฤติกรรมของมนุษย์เสมอ ทำให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามการบัญญัติกฎหมายในสมัยปัจจุบันจะถูกควบคุมโดยอำนาจทางการเมือง นั่นหมายความว่าอาจมีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบัญญัติกฎหมายเสมอ ซึ่งมิใช่การบัญญัติกฎหมายบริสุทธิ์เหมือนอดีต จึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การวิวัฒนาการของกฎหมายไทย (ย่อ) มีลำดับดังต่อไปนี้
- สมัยก่อนสุโขทัย จีนและอินเดียต่างถือได้ว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกตะวันออก มีอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ปรัชญา ความเชื่อในศาสนา ตลอดจนแนวคิดเรื่องกฎหมาย จึงได้รับอิทธิพลมาจากจีนและอินเดีย จากประวัติศาสตร์พบว่า จีนและอินเดียก็ได้รับอิทธิพลแนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจากทางตะวันตกเช่นกัน มีสาระสำคัญดังนี้ (อุดมศักดิ์ สินธิพงษ์: 2561)
1) อารยธรรมจีน คนจีนมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณและเทพเจ้าต่างๆ ปรากฏให้เห็นคำสอนและปรัชญาของจีน เช่น ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า มีความเชื่อ 3 ประการคือ ความเชื่อในเรื่องธรรมชาติ ความเชื่อในเรื่องสวรรค์ การเคารพบูชาบรรพบุรุษ (1) หลักการจัดระเบียบสังคมของขงจื๊อว่า “ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมจะมีอยู่ได้ ถ้าหากทุกคนในสังคมรู้จักหน้าที่ของตนเอง ถ้าสังคมดี ประเทศชาติซึ่งเป็นหน่วยใหญ่ของสังคมก็จะมีความสุขไปด้วย” และ (2) หลักการจัดระเบียบสังคมของเล่าจื๊อว่า “สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนกำเนิดมาจากเต๋า เต๋าจึงเป็นจุดเริ่มต้นของจักรภพ เป็นสิ่งว่างเปล่า สามารถใช้ได้อย่างไม่รู้จักหมดสิ้น สิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ย่อมดีกว่าระเบียบข้อบังคับในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น”
2) อารยธรรมอินเดีย คนพื้นเมืองของชาวอินเดีย มีความเชื่อและนับถือโลกธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เชื่อว่าวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่ในสิ่งที่ตนนับถือ วิญญาณเหล่านี้มีสถานะเป็นเทพเจ้า สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ หลักคำสอนในพุทธศาสนาในอินเดีย (1) ความเสมอภาคมนุษย์ทุกคนไม่ว่าวรรณะใด เท่าเทียมกันและเสมอภาคกัน คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย เหมือนกันทุกคน (2) ความไม่เบียดเบียนกัน “พุทธศาสนิกชนพึงละเว้นจากการฆ่าและการเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น” (3) ความเมตตา การให้ทาน การแบ่งปันทรัพย์สิน การให้อภัย การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น
- สมัยสุโขทัย มีกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญ 4 หลัก ดังนี้ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 2011)
1) หลักปิตุราชา มาตาธิปไตย ปิตาธิปไตย (Paternalism) ได้นำระบอบ “พ่อปกครองลูก” ซึ่งผู้ปกครองเป็นเสมือน “พ่อ” และประชาชนเปรียบเสมือน “ลูก” เป็นแนวคิดมาจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ ได้ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นเพราะพระองค์ได้สืบทอดสิทธิอำนาจจากอดัมที่เป็นมนุษย์ผู้ชายคนแรกที่ทำหน้าที่ปกครอง (Filmer, Robert: 1991)
2) ศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง กฎหมายสี่บท ได้แก่ (1) บทเรื่องมรดก (2) บทเรื่องที่ดิน (3) บทวิธีพิจารณาความ (4) บทลักษณะฎีกา
3) คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นตำราภาษาสันสกฤต Puranic Smriti เกี่ยวกับกฎหมายและความประพฤติ และอ้างถึงบทความ (ศาล) และธรรมะ ถือกำเนิดจากประเพณีวรรณกรรมของพระเวทที่แต่งขึ้นในช่วงสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลจนถึงศตวรรษแรกๆ ของสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล พระเวทแต่ละเล่มยังแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ (1) สัมหิตา เป็นชุดบทมนต์ และ (2) พราหมณ์ เป็นตำราร้อยแก้วที่อธิบายความหมายของบทสัมหิตา (Patrick Olivelle, 1999) เป็นต้น ต่อมาได้ขยายอิทธิพลมาเป็นประเพณีของชาวอินเดีย ถือกันว่าสากลพิภพอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติคือธรรม กษัตริย์อินเดียต้องศึกษาธรรมศาสตร์แล้วตัดสินคดีไปตามหลักในธรรมศาสตร์นั้น (เอ.บี กริสโวลต์ และประเสริฐ ณ นคร, 2514)
4) มังรายศาสตร์ เป็นกฎหมายของพระเจ้ามังราย (หรือเม็งราย) กษัตริย์ไทยล้านนาเรียกอีกชื่อว่า “วินิจฉัยมังราย” หมายถึง การตัดสินหรือพิพากษาของพระเจ้ามังรายโดยการนำกฎในพระธรรมศาสตร์มาใช้ให้เข้ากับรูปคดี (น้อมนิจ วงศ์สุทธิธรรม, 2533)
- สมัยกรุงศรีอยุธยา มีกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญ 4 หลัก ดังนี้ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 2011)
1) คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ได้นำหลักพระธรรมศาสตร์สมัยสุโขทัยมาใช้ในการตัดสินคดีความ
2) พระราชกำหนดบทพระอัยการ ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พ.ศ. 1895 ได้ถูกยกเลิกใน ปี พ.ศ. 2451 เมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 รวมเวลาที่ใช้ถึง 556 ปี ส่วนใหญ่เป็นบทลงโทษข้าราชการที่ทุจริต ประพฤติมิชอบหรือใช้อำนาจในทางมิชอบ ห้ามหญิงไทยแต่งงานกับต่างด้าว ห้ามค้ากำไรเกินควร การเก็บภาษี เป็นต้น (สุเมธ จานประดับ และคณะ, 2550)
3) พระราชวินิจฉัย เป็นคำวินิจฉัยหรือการวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ 4 คติไทยเราก็เป็นสวรรค์เพราะมีน้ำทิพย์และอาหารทิพย์ ว่า “วาจาของคนบางพวกพูดกันว่า เมืองลาวเหมือนเมืองสวรรค์ ทั้งหญิงทั้งชาย ตั้งแต่บ่ายจนดึกมีแต่สนุก ร้องรำทำเพลงรื่นเริงอยู่เป็นนิตย์ อีกพวกหนึ่งนักเลงพูดกันว่า ต้องการอะไรที่จะทำบุญไปสวรรค์ เมืองไทยของเราก็เป็นสวรรค์อยู่แล้ว เพราะมีน้ำทิพย์ คือเหล้ากิน เพราะมีอาหารทิพย์ คือฝิ่นสูบสบายดี แลมีต้นกัลปพฤกษ์ คือบ่อนโป เป็นที่สำราญรื่นชื่นบานได้ลาภผล รายอยู่รอบบ้านรอบเมือง ทั้งทางบกทางเรือ คำนักเลงพูดอย่างนี้นั้นไม่เห็นด้วย ถ้าเมืองไทยเมืองลาวเป็นเมืองสวรรค์ ก็สวรรค์วิมานรุงรังนัก ไฟไหม้วิมานฉิบหายบ่อยๆ” (SILPA-MAG, 2560) เป็นต้น
4) กฎหมายศักดินา เป็นระบบกำหนดชนชั้นทางสังคม คือกำหนดสิทธิในการถือครองที่นาสูงสุด ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ตามจำนวนที่ดินด้วย ทำนองเดียวกับระบบเจ้าขุนมูลนาย (feudalism) ของทวีปยุโรป สันนิษฐานว่าปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยอาณาจักรสุโขทัย เพราะมีการปรับไหมตามศักดิ์ (จิตร ภูมิศักดิ์, 2550)
- สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญ 8 หลัก ดังนี้ (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 2011)
1) กฎหมายตราสามดวง คือ ตราพระราชสีห์ เป็นตราของกระทรวงมหาดไทย, ตราคชสีห์ เป็นของพระทรวงกลาโหม, และ ตราบัวแก้ว เป็นตราของคลัง
2) กฎหมายการห้ามสูบฝิ่นและการซื้อฝิ่น
3) กฎหมายลักษณะโจรห้าเส้น
4) แก้ไขกฎหมายตราสามดวง และ พ.ร.บ.ผัวขายเมีย ไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
5) ประเทศไทยนำกฎหมายตะวันตกมาบังคับใช้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ (1) ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (2) ความไม่เหมาะสมของกฎหมายไทยเดิม
6) ความคิดด้านกฎหมายมหาชน ได้แก่ หลักสากลทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ซึ่งประเทศไทยใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
7) ทศพิศราชธรรม “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ด้วยธรรม 10 ประการของพระราชา คือ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม
8) การใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil law) การปฏิรูปกฎหมายและศาล การออกกฎหมายยกเลิกทาสกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ร่างประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความ
- สมัยรัตนโกสินทร์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2478
2) ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ
3) กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายผู้สูงอายุ เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่าการวิวัฒนาการของกฎหมายไทย ได้สืบทอดกันจนถึงปัจจุบันใช้เวลาในการพัฒนากว่า 4,000 ปี กฎหมายจะถูกขับเคลื่อนด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ประกอบกับอำนาจของพระมหากษัตริย์หรืออำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดสามารถสังเกตได้ว่า “กฎหมายจะนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจ” แต่ในสังคมปัจจุบัน “กฎหมายจะนำมาใช้สร้างความชอบธรรมในการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจ” ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายบริสุทธิ์ควรมีการฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อลิดรอนการใช้กฎหมายสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจหรือแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจ สวัสดีครับ
ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี
ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา