24.8 C
Nakhon Sawan
วันอังคาร, มกราคม 7, 2025
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์……………………………………. @ นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานผู้ก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.นิภา สุพิชญางกูร ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และนายวีรวุฒิ บำรุงไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ขอร่วมอวยพร “ส่งท้ายปีเก่า 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568” แด่พี่น้อง ผองเพื่อนชาวสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย บุญบารมีแห่งหลวงพ่อศรีสวรรค์ วัดนครสวรรค์ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หลวงพ่อจ้อย วัดศรีอุทุมพร หลวงพ่อทอง วัดวรนาถบรรพต หลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน (ธารทหาร) พร้อมด้วยอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ ดลบันดาลให้ทุกท่านจงประสบแต่ความสุข คิดสิ่งใดให้สมดังปรารถนาทุกประการ “สวัสดีปีใหม่ 2568”

……………………………………………………. @ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เสริมสภาพคล่อง แก้หนี้ยั่งยืน โดยผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (ห้างโลตัส) ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ใน 2 มิติ ได้แก่ 1. สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ 2. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs โดยได้จัดเตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ไว้กว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs และกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และรองรับการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สามารถปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ไปอีก 1 ปี ถึง 31 ธันวาคม 2568 ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนผ่าน LINE OA : @tcgfirst หรือที่บูธกิจกรรม “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2568

เดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เสริมสภาพคล่อง แก้หนี้ยั่งยืน โดยผนึกความร่วมมือกับ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ใน 2 มิติ ได้แก่

  1. สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ
  2. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs ที่ถือหนังสือค้ำประกันของ บสย. และถูกจ่ายเคลมจากสถาบันการเงินให้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ ภายใต้โครงการ “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ในคอนเซ็ปต์ “ช่วยคิด ช่วยแก้ ช่วยจบ” โดยจัดเตรียมกิจกรรม “3 เช็ค 3 แนะ 3 ช่วย” เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs อย่างครบวงจร อาทิ ตรวจสุขภาพทางการเงิน ตรวจเครดิตบูโร วิเคราะห์วงเงินสินเชื่อเบื้องต้น แนะนำบริการ E consent E KYC ผ่าน LINE OA และช่วย SMEs แก้หนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” เป็นต้น

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ ได้แก่

  • กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป และผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า ที่เข้ามาใช้บริการในโลตัส ครอบคลุมทั้งภาคบริการ การผลิต อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ บสย. ให้การค้ำประกันคิดเป็นสัดส่วน 50% ของพอร์ตค้ำประกันทั้งหมด
  • กลุ่มเกษตรกร มีสัดส่วนการค้ำประกันในอันดับต้น ๆ โดยในปี 2567 (ม.ค. – พ.ย. 2567) มียอดค้ำประกันกลุ่มธุรกิจการเกษตร อยู่ในอันดับที่ 4 คิดเป็น 8.9% โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อกว่า 4,280 ล้านบาท

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ บสย. จะเดินสายออกบูธที่ห้างโลตัส 12 จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแต่ละภาค กระจายไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจะมีการคิกออฟโครงการ ณ โลตัส บางแค กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2568 หลังจากนั้นจะเดินสายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกิจกรรมจะมีไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2568  ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนผ่าน LINE OA : @tcgfirst หรือสามารถลงทะเบียนที่บูธกิจกรรม “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย”

บสย. ได้จัดเตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” อีกกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs และกลุ่มเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมรองรับการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงิน) สามารถปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

บสย. ได้ขยายระยะเวลามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” ไปอีก 1 ปี ถึง 31 ธันวาคม 2568 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2567 ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น ช่วย SMEs ลด ปลดหนี้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น รองรับกับความสามารถในการชำระหนี้ 3 ระดับ (ม่วง เหลือง เขียว)

มาตรการสีม่วง “ลูกหนี้ดี ไม่มีแรงผ่อน” ตัดเงินต้นเพิ่มเป็น 50% จากเดิมตัดเงินต้น 20% และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 10% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 12 งวด

มาตรการสีเหลือง “ลูกหนี้ผ่อนดี มีศักยภาพ” เพิ่มระยะเวลาผ่อนจาก 5 ปี เป็น 7 ปี และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 10% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 12 งวด

มาตรการสีเขียว “ลูกหนี้ดี มีวินัย” ตัดเงินต้นทั้งจำนวน และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 15% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด เป็นต้น

…………………………………. @ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายท่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการจับกุมและทลายโรงงานผลิตเถื่อนที่พบการใช้สารต้องห้าม เช่น สเตียรอยด์ (Steroid) ไซบูทรามีน (Sibutramine) ปรอท เป็นต้น ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงนั้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคและการละเมิดกฎหมายด้านสาธารณสุข ส่งผลกระทบสำคัญต่อทั้งอุตสาหกรรมและสังคมโดยรวม ยิ่งปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์กำลังได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดการเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้ามากเท่าที่ควร จึงกลายเป็นช่องทางที่เอื้อต่อการจำหน่ายสินค้าปลอมแปลงหรือไม่ได้มาตรฐานมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการมีมาตรฐานสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางนั้นถือเป็นแนวทางที่ดีและเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยป้องกันความเสียหายทั้งต่อผู้บริโภคและแบรนด์สินค้าด้วย ทั้งนี้ นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า

“สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ ถึงแม้จะเป็นแบรนด์ที่คุ้นเคยก็ตาม แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้บริโภคสั่งซื้อไปมักได้รับสินค้าปลอม ดังนั้น จึงควรมีมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที หรือที่เรียกว่า Health-Wellness and Beauty Standards (HBS)”

มาตรฐาน HBS มีกำหนดการจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกปี 2568 ที่จะถึงนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสุขภาพและความงาม โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสัญลักษณ์มาตรฐานนี้จะต้องผ่านการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายสู่ท้องตลาดมีความถูกต้อง ไม่มีสารอันตรายต่อร่างกาย และมีส่วนผสมครบถ้วนตรงตามที่ระบุไว้บนฉลาก และจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นี้ได้มาตรฐาน เป็นของจริงแท้ มีแนวโน้มเป็นของปลอมแปลง และเป็นสินค้าอันตราย โดยตัวมาตรฐาน HBS นี้เอง ถูกพัฒนาขึ้นจากการผนวกกับเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติ (Barcode 2D) ในระบบมาตรฐานสากล GS1 ในรูปแบบ QR Code ที่ออกแบบมาเฉพาะแต่ละผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

โดยก่อนหน้านี้ การใช้ Data Matrix ของบาร์โค้ด 2 มิติ ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากต้องใช้แอปพลิเคชันเฉพาะของ GS1 ในการสแกน แต่ด้วยการพัฒนา QR Code ผู้บริโภคเพียงแค่สแกนผ่านกล้องสมาร์ทโฟนทั่วไปได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแต่อย่างใด ก็จะทราบทันทีว่าสินค้าชิ้นนั้น ๆ ผ่านการตรวจสอบแล้วหรือไม่ สำหรับการกำหนดเกณฑ์การใช้งาน ในเบื้องต้นจะพิจารณาให้สิทธิสมาชิก ส.อ.ท. ในการเข้าถึงมาตรฐานนี้ก่อน แล้วจึงค่อยขยายไปสู่บุคคลภายนอก ทั้งนี้ มาตรฐาน HBS ไม่ได้เป็นเพียงแค่การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมความงามเพื่อสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดสุขภาพและความงามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน HBS ไม่ได้จะมาแทนที่เครื่องหมาย อย. ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่เป็นการเสริมแกร่งเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในท้องตลาดมีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ปลอมแปลงอย่างแพร่หลาย การมีมาตรฐานและระบบตรวจสอบที่รัดกุมในการป้องกันและคัดกรองอย่างถูกต้องและโปร่งใส จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ระหว่างของแท้กับของปลอมแปลงได้ง่ายขึ้น เรียกว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วย “แยกน้ำดีออกจากน้ำเสีย”

สำหรับอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตและยังไม่เสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันกับประเทศจีน ดังนั้นจึงควรเร่งเตรียมการเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านมาตรฐานให้แล้วเสร็จก่อนที่จีนจะตั้งหลักได้ ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของไทยจะเสียเปรียบในอนาคตระยะยาวได้”

…………………………………….. @ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องส่งท้ายปี แนะรัฐจัดตั้ง War room รับมือนโยบายการค้าสหรัฐฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับ 91.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 89.1 ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี และก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม ประกอบกับภาคการส่งออก ขยายตัวเร่งขึ้น 14.6%(YOY) เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัวสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าเร่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อรองรับการผลิต และเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป อีกทั้ง การอ่อนค่าของเงินบาท ยังส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมไปถึง ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 พฤศจิกายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยแล้ว จำนวน 31,313,787 คน ขยายตัว 28% (YoY) สร้างรายได้ 1,466,408 ล้านบาท ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้ภาครัฐและเอกชนจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ อีกปัจจัยที่ส่งผล คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 (มกราคม – กันยายน) มีโครงการต่างชาติยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,449  โครงการ เพิ่มขึ้น 64% (YOY) มีมูลค่าการลงทุน 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% (YOY) โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ดิจิทัล มีมูลค่าการลงทุน 90,262  ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 13,176% (YOY)  และงบประมาณภาครัฐ ปี 2568 เริ่มมีการเบิกจ่ายแล้ว ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ กระทบต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ คาดการณ์มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.1% (YoY) กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 37,691 คัน หดตัว 36.08% (YOY) ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ รวมถึง ยอดอนุมัติสินเชื่อ SMEs ในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 6.47 แสนล้านบาท หดตัว 4.6%(YoY) แสดงให้เห็นว่า SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อยลงจากช่วงก่อนหน้า และยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้น กดดันยอดขายสินค้าผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติก เคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,369 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 55.6% เศรษฐกิจโลก 50.2% ราคาน้ำมัน 38.8% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 38.1% สถานการณ์การเมืองในประเทศ  31.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 30.9% ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวลดลงจาก 98.4 ในเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวัน ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในพื้นที่ต่างๆ อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกผันผวนและกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 มาตรการเงินช่วยเหลือเกษตกร มาตรการแก้หนี้ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วง High Season คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2568 มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐ ทั้งราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –31 มีนาคม 2568 รวมถึงปรับลดค่าไฟฟ้า 4.15 บาท ต่อหน่วย งวดเดือน มกราคม – เมษายน 2568

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.  เสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง War room เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดในสหรัฐฯ

  1. เสนอให้ภาครัฐใช้กลไกการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (PAY BY SKILL) เพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
  2. เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ดีขึ้น
  3. เสนอให้ภาครัฐปรับปรุงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้กลไกทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อขยายโอกาสทางการค้า รวมถึงปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนกำหนดตัวชี้วัดของโครงการโดยเน้นประสิทธิภาพในการเจาะตลาด

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://fti.or.th/ids ส.อ.ท. มุ่ง “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”

…………………………………….@ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนาม MOU ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ หนุนโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ส.อ.ท. และประธานสภาอุตสาหกรรมภาค ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง ส.อ.ท. และกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี มีทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เข้าร่วมลงนามด้วย ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

การขับเคลื่อนโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) เป็นการร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยนำนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กอย่างเท่าเทียม พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียนลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนสองภาษา โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ

……………………………………….@สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ขอแสดงความยินดีกับ นายวีรวุฒิ บำรุงไทย กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดลิ่มเชียงเส็ง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ในโอกาสได้รับรางวัล TCC BEST Awards ประจำปี 2567 “จรรยาบรรณดีเด่น หอการค้าไทย 2567” จาก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มอบรางวัลโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

……………………………………….@สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ขอแสดงความยินดีกับ นายวีรวุฒิ บำรุงไทย กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดลิ่มเชียงเส็ง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ในโอกาสเข้ารับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น ประเภทการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี พ.ศ.2567 จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรับมอบรางวัลจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567 ณ ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ……………………………………….@ หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชาณัฐธนพล  แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์056-245497,081-0428 934 โทรสาร056-245 498 e-mail: [email protected], https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด