31.1 C
Nakhon Sawan
วันพุธ, มกราคม 22, 2025
spot_img

ที่นี่…สถานีเจ้าพระยา

  • ตอน : รันเวย์เอื้อชีวิต

ในชีวิตผมเคยนั่งเรือบินเพียงไม่กี่ครั้ง นั่งจากเมืองน่านเข้ากรุงเทพฯสมัยที่การบินไทยยังเป็นบริษัทเดินอากาศไทยบ้าง นั่งจากดอนเมืองไปหาดใหญ่บ้าง สมัยอยู่อุทัยธานีได้ไปสิงคโปร์ อยู่นครสวรรค์ได้ไปเวียดนาม กัมพูชา

การนั่งเรือบินยาวนานที่สุดก็เมื่อครั้งที่ไปศึกษาดูงานวิทยุฯโทรทัศน์ ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย สมัยรับราชการในกรมประชาสัมพันธ์ ใช้เวลาอยู่กลางนภาราวๆ 8 ชั่วโมง ได้สัมผัสอาการเรือบินตกหลุมอากาศ เสียงปีกเรือบินกระทบมวลอากาศในหลุมอากาศที่เครื่องตกลงมากระทบดัง “ปังๆๆ” อยู่นอกเครื่องฯ จนมหัศจรรย์ใจว่า ปีกเรือบินโดยสารช่างตรึงไว้กับตัวเรือบินอย่างแข็งแรงเหลือหลาย

แต่ในคราวที่นั่งเครื่องฯ จากภาคใต้ฝ่าพายุฝน ระหว่างอยู่เหนือท้องทะเลแล้วเรือบินสั่นสะท้านราวกับเจ้าเข้าทรงหรือกัปตันเป็นไข้จับสั่นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ผมต้องตั้งอกตั้งใจสวดมนต์กลางท้องฟ้า เป็นครั้งแรกในชีวิต…ฮา!

ผมไม่เคยสบายใจทุกครั้งที่นั่งเรือบิน เพราะรถยนต์หรือยวดยานบนพื้นดิน เมื่อเครื่องยนต์ขัดข้องสามารถหยุดหรือจอดบนพื้นดินได้อย่างปลอดภัย แต่เรือบินที่ขัดข้องจนต้องร่อนลงสู่พื้นนั้น ไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะพื้นโลกไม่ได้ราบเรียบหรือมีรันเวย์อยู่ทั่วทุกหัวระแหง ที่สำคัญคือพื้นดินบนพื้นโลกมีเพียง 1 ส่วนในขณะที่เป็น พื้นน้ำถึง 3 ส่วน… ฮา!

และลำตัวเรือบินก็ไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ เมื่อจะลงจอดในแม่น้ำทะเลหรือมหาสมุทร ก็ตั้งหน้าตั้งตาจะจมน้ำประการเดียว

ยิ่งเหตุการณ์ที่เรือบินของสายการบิน เจ.จู.แอร์ ของเกาหลีใต้ประสบอุบัติเหตุร่อนลงท่าอากาศยานนานาชาติมูอัน จังหวัดซ็อลลาใต้ ของประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2567 โดยไม่กางล้อ ไม่กางแฟลบ(Flap) หรือ Trailing Edge (ส่วนด้านหลังของปีกหลักของเรือบิน) เพื่อสร้างแรงต้านอากาศช่วยในการชะลอความเร็วของเรือบิน

แม้กระทั่ง Elevator หรือแพนหางขึ้นลง ซึ่งเป็น Control Surfaces หลักของเรือบินในการควบคุมการเชิดหัวขึ้นหรือกดหัวเรือบินลง เพื่อบังคับทิศทางในแนวดิ่งก็ไม่มีร่องรอยขยับเขยื้อน จนทำให้เครื่องบินไถลไปไกลบนรันเวย์คอนกรีตและไถลตกออกจากรันเวย์พุ่งชนแท่นคอนกรีตปลายรันเวย์จนเครื่องระเบิดไฟลุกไหม้คลอกผู้โดยสารเสียชีวิต 179 คน แอร์โฮสเตสที่ในข่าวเรียกว่าพนักงานต้อนรับ ที่นั่งอยู่บริเวณท่อนท้ายเรือบิน รอดชีวิต 2 คนจากจำนวน 181 คนบนเครื่องฯ

ยิ่งทำให้ผมหวาดผวาการนั่งเรือบินจนขนหัวลุกตั้งชันเป็นระยะๆ พาน(ไม่ใช่พาล)พาให้จินตนาการไปไกลว่า….

“ถ้ามีรันเวย์เอื้ออาทรอยู่ทุกๆสนามบินในทุกๆประเทศทั่วโลก โศกนาฏกรรมจากการที่เรือบินจะแลนดิ้งฉุกเฉินในลักษณาการ” “เก็บล้อ” ไม่กางแฟลบ อาจจะปลอดภัย ไม่เกิดเหตุการณ์เครื่องระเบิดไฟไหม้อย่างที่ปรากฎอยู่เนืองๆก็ได้”

รันเวย์เอื้ออาทรของผมหมายถึง รันเวย์ดินอ่อนๆนุ่มๆอาจจะฉาบหน้ารันเวย์ด้วยผืนหญ้าญี่ปุ่นหรือหญ้าหนานุ่มที่นิยมปลูกตามสนามกอล์ฟ เพื่อทำให้ผิวหน้าของรันเวย์เอื้ออาทร นุ่มหยุ่น เพื่อลดแรงกระแทกในยามที่เรือบินตกกระทบพื้นรันเวย์เอื้ออาทรในกรณีร่อนลงฉุกเฉิน

ในขณะที่เรือบินลื่นไถลไปตามรันเวย์ก็จะไม่ร่อนไถลไปไกลจนเกินงาม เพราะดินนุ่มๆหญ้าหนาๆจะก่อให้เกิดแรงเสียดทานที่นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเหมือนรันเวย์คอนกรีตที่ก่อให้เกิดประกายไฟได้อย่างร้ายกาจและเอื้อต่อการลื่นไถลไปได้อย่างคล่องคอราวกับท้องเครื่องบินติดล้อสเก็ตต์ไว้ฉะ

นั้น

รันเวย์เอื้ออาทรที่เป็นพื้นดินร่วนคลุมด้วยผืนหญ้า จะไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ  และดูดซับอาการลื่นไถลของเรือบินให้หน่วงลงอย่างมีประสิทธิภาพ และเรือบินน่าจะลื่นไถลไปไม่ไกลเท่ากับกรณีที่ไถลไปบนรันเวย์คอนกรีต

ตลอด 2 ข้างทางของรันเวย์เอื้ออาทรต้องมีสถานีดับเพลิง หรือหัวท่อธารจ่ายน้ำ ดับเพลิงเป็นระยะๆ ทุก 100,200,300 เมตร ตามความเหมาะสมหรือตามทฤษฎีการกู้ภัยในสนามบิน โดยมีพนักงานดับเพลิงประจำจุดจ่ายน้ำประจำสถานีดับเพลิงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้สามารถลากสายน้ำดับเพลิงพุ่งเข้าไปฉีดน้ำดับไฟได้ทันท่วงที ในวินาทีที่เรือบินหยุดไถล

อย่าพึ่งพารถดับเพลิงเพียงประการเดียว เพราะทุกครั้งที่ปรากฏในภาพข่าวที่เครื่องบินลงพื้นฉุกเฉินและไฟลุกท่วมเครื่องฯ ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่รถดับเพลิงจะวิ่งไล่กวดเครื่องบินได้ทันท่วงที และฉีดน้ำได้ก่อนที่เครื่องบินจะระเบิดจนไฟคลอกผู้โดยสารตายเป็นหมู่คณะ

ยกเว้นกรณีที่เรือบินไม่เกิดประกายไฟ แล้วรถดับเพลิงไล่กวดจนสุดฝีล้อแล้วพนักงานดับเพลิงพากันฉีดน้ำใส่เครื่องฯอย่างองอาจ ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่า “ทันท่วงที” แต่เพราะไม่มีประกายไฟอันเป็นต้นเหตุหรือชนวนให้เกิดไฟไหม้เรือบินต่างหาก…. ภราดา!

สองข้างรันเวย์เอื้ออาทรควรมีคันดินนุ่มๆ สูงพอที่จะปะทะไม่ให้เรือบินไถลสะเปะสะปะออกไปนอกรันเวย์ฯ หากเป็นคูน้ำตื้นๆ ระดับน้ำในคูน้ำสูงพอท่วมพื้นเครื่องบินก็ได้ จะได้ช่วยดับไฟโดยอัตโนมัติในกรณีที่พนักงานดับเพลิงเข้าดับไฟไม่ทัน

ปลายรันเวย์เอื้ออาทรห้ามทำแท่นคอนกรีต วัตถุดาดแข็งขวางทางลื่นไถลถ้าไม่ทำคันดินอ่อนนุ่มๆ ก็ขุดสระตื้นๆที่ปลายรันเวย์เติมน้ำพอให้ท่วมท้องเรือบิน แต่อย่าให้ลึกระดับน้ำท่วมหัวผู้โดยสารที่ติดเข็มขัดนิรภัยอยู่ในเก้าอี้ พอให้ท่วมใต้เก้าอี้นั่งในเรือบินตอนน้ำไหลเข้าประตูเรือบินก็พอเพียงแล้ว

ถ้าความคิดฝันลมๆแล้งๆของผมในกรณี “รันเวย์เอื้ออาทร” เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง การตายหมู่ในกองเพลิงในลำตัวเรือบิน “เที่ยวบินมรณะ” ทั่วโลกในโอกาสต่อไปน่าจะลดลงแล้วเหือดหายไปในที่สุด

——————————

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด