การเลี้ยงสัตว์นั้น มีจุดประสงค์หลายประการด้วยกัน เช่น เพื่อกิน จำหน่าย ความสวยงาม ความรัก ความอบอุ่น เป็นเพื่อน ป้องกันทรัพย์สิน หรือมีนิสัยติดสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เมื่อมีการเลี้ยงสัตว์แล้วย่อมเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ก่อความรำคาญ ทำร้ายทรัพย์สินหรือบุคคล ส่งกลิ่นเหม็น เสียงดัง การขยายพันธุ์ ถูกลักพา การหวงแหน เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่ายหรือเป็นอาหารหรือเป็นธุรกิจ อาจเป็นสัตว์เลี้ยงที่เอาไว้เป็นเพื่อน ดูเล่น ความสวยงาม หรือป้องกันทรัพย์สินของประชาชนทั่วๆ ไป ส่วนมากจะเป็นสุนัข แมว นก กระรอก กระแต ปลา เป็นต้น ซึ่งสัตว์ที่พบปัญหาชัดเจนที่สุดก็คือ สุนัข จะกัดคนที่สัญจรไปมา ทำให้ตกใจกลัว ส่งเสียงดัง ขับถ่าย กัดสัตว์เลี้ยงหรือทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น
สัตว์เลี้ยงอาจทำให้ผู้เลี้ยงมีความสุขและเพลิดเพลินกับการอยู่กับมัน แต่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะการอยู่แบบชุมชนหรือตลาด
การเห่าหอนของสุนัขที่ไม่เป็นเวลาโดยเฉพาะเวลาหลับนอนของเพื่อนบ้าน สิ่งที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องคำนึงให้มากก็คือความรับชอบต่อสังคมหรือเพื่อนบ้าน ดังนั้นกฎหมายจึงบทบาทสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขทั้งผู้เลี้ยงและผู้อยู่รอบข้าง มีดังต่อไปนี้
เจ้าของสัตว์ หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย
- ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 377 ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 381 ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 382 ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 394 ผู้ใดไล่ ต้อน หรือทำให้สัตว์ใด ๆ เข้าในสวน ไร่ หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธุ์ไว้ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลิตผลอยู่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 395 ผู้ใดควบคุมสัตว์ใด ๆ ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเข้าในสวน ไร่หรือนาของผู้อื่นที่ได้แต่งดินไว้ เพาะพันธุ์ไว้ หรือมีพืชพันธุ์หรือผลิตผลอยู่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 396 ผู้ใดทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็น ในหรือริมทางสาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา 397 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อน รำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้
มาตรา 452 ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็นโดยพฤติการณ์แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้
แต่ว่าผู้นั้นต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของสัตว์โดยไม่ชักช้า ถ้าและหาตัวเจ้าของสัตว์ไม่พบผู้ที่จับสัตว์ไว้ต้องจัดการตามสมควรเพื่อสืบหาตัวเจ้าของ
มาตรา 1320 ภายในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะและกฎข้อบังคับในเรื่องนั้น ท่านว่าสัตว์ป่าไม่มีเจ้าของตราบเท่าที่ยังอยู่อิสระ สัตว์ป่าในสวนสัตว์ และปลาในบ่อหรือในที่น้ำซึ่งเจ้าของกั้นไว้นั้น ท่านว่าไม่ใช่สัตว์ไม่มีเจ้าของ สัตว์ป่าที่คนจับได้นั้น ถ้ามันกลับคืนอิสระและเจ้าของไม่ติดตามโดยพลันหรือเลิกติดตามเสียแล้ว ฉะนี้ท่านว่าไม่มีเจ้าของสัตว์ซึ่งเลี้ยงเชื่องแล้ว ถ้ามันทิ้งที่ไปเลย ท่านว่าไม่มีเจ้าของ
- พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
มาตรา 25 ระบุไว้ว่า ลักษณะของเหตุอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ จะถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ในที่หรือวิธีใดหรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นหาก เสียง กลิ่น หรืออื่นๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน ถือเป็นการก่อความรำคาญทั้งสิ้น
- พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครอง “สัตว์” เพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์จากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์ที่ปล่อย ละทิ้ง ไม่ดูแลสัตว์ และเพื่อปกป้องมนุษย์จากความเสียหายในทรัพย์สินหรือร่างกายที่เกิดจากสัตว์ด้วยเช่นกัน
มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
มาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา 24 การขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม
- ประกาศเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล เกี่ยวกับการควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ต่างๆ
เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่นหรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ห้ามมิให้มีการเลี้ยงสัตว์ชนิดหรือประเภทเหล่านี้โดยเด็ดขาด (1) งูพิษและงูที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนและสัตว์เลี้ยง (2) ปลาปิรันยา (3) คางคกไฟ (4) สัตว์ดุร้ายต่าง ๆ (5) สัตว์มีพิษร้ายอื่น ๆ (6) สัตว์ต้องห้ามตามกฎหมายอื่น ๆ
ห้ามเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ประเภทช้าง ม้า โค กระบือ แพะ แกะ ล่อ ลา สุกร สุนัข แมว ไก่ ห่านและนก ในเขตพื้นที่ถนนสาธารณะทุกสาย
แสดงให้เห็นว่ามีกฎหมายจำนวนมากที่บังคับใช้ควบคุมทั้งผู้เลี้ยงและผู้ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญคือผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาโดยละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ที่ตนเลี้ยงหรือจะเลี้ยงว่ามีกฎหมายควบคุมไว้อย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมหรือเพื่อนบ้าน หากเราศึกษากฎหมายให้เข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งหรือพิพาทกันได้ และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สัญจรและเพื่อนบ้านได้ ทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สวัสดีครับ
ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี
(ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์)