27.5 C
Nakhon Sawan
วันพุธ, กุมภาพันธ์ 5, 2025
spot_img

กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน

อาวุธปืนนั้นถือว่าเป็นสิ่งอันตราย มีอานุภาพร้ายแรง เป็นอาวุธระยะไกล ด้วยความเร็วสูงจากการระเบิดของดินปืนผ่านทางการควบคุมจากกระบอกปืน เพื่อยิงวัตถุเรียกว่า โปรเจ๊กไทล์ (The Chambers Dictionary) ส่วนมากอาวุธจะมีได้เฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลบ้านเมือง เพื่อรักษาความสงบหรือป้องกันภยันตรายต่างๆ หรือมีไว้ล่าสัตว์ ทำสงคราม

ในปัจจุบันอาวุธปืนจะมีหรือพกพาได้จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นอาวุธปืนผิดกฎหมายที่ลักลอบผลิตขึ้นมาเอง ในประเทศไทยจัดว่ามีอาวุธปืนผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ จากช่างกลึง โรงกลึง หรือชาวบ้านที่มีเครื่องมือในการผลิต เช่น ปืนอีแก๊ป ปืนลูกซอง ปืนลูกโม่ ปืนอัดลม ปืนอัดแก๊ส ปืนอัดแอลกอฮอล์ เป็นต้น

แต่ปัจจุบันผู้ผลิตปืนผิดกฎหมายมีพัฒนาการและมีเครื่องมือการผลิตทันสมัยขึ้น สามารถผลิตอาวุธปืนผิดกฎหมายได้เกือบทุกชนิดและมีคุณภาพมากขึ้น กรณีอาวุธปืนที่ถูกกฎหมายหรือมีทะเบียนส่วนมากจะเป็นปืนนำเข้าจากต่างประเทศ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ความเป็นมาของอาวุธปืน

ปืนหรือปืนแบบโบราณ (Proto-gun) ซึ่งปรากฏในประเทศจีน ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1000 จากภาพแกะสลักในถ้ำที่เสฉวน (Andrade, 2016) ซึ่งย้อนกลับไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเป็นรูปคนที่ถือปืนทรงแจกันพร้อมเปลวไฟและลูกปืนใหญ่พุ่งออกมา (Chase, 2003) ปืนที่เก่าแก่ที่สุดทำมาจากทองสัมฤทธ์ มีปากกระบอกซึ่งถูกทำขึ้นด้วยโลหะ อุดลูกปืนและดินปืนลงไปในปากกระบอกปืน ทำการยิงโปรเจ๊กไทล์เพียงครั้งเดียว

เมื่อ ค.ศ. 1288 ขุดค้นพบปืนในบริเวณเขตโบราณสถาน Acheng District ที่ Yuan Shi (Needham, 1986) อาวุธปืนได้ถูกแพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรปในศตวรรษที่ 13-14 (Andrade, 2016)

ต่อมาในราว ค.ศ. 1536 มีการผลิตปืนพกครั้งแรกในประเทศอิตาลีเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร (blockdit.com,  2021) และมีการพัฒนาเรื่อยมา โดยอาวุธปืนได้ถูกนำเข้าในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2081 โดยชาวโปรตุเกสในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้ใช้ในการรบเป็นครั้งแรก ปี พ.ศ. 2089 ที่เมืองเชียงกราน เรียกว่า “กองอาสาโปรตุเกส”

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้จัดซื้ออาวุธปืนคาบศิลาจากโปรตุเกสกว่า 400 กระบอก และในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้จัดซื้ออาวุธจากโปรตุเกสหลายพันกระบอก (วันเฉลิม ชุมเกื้อ, 2012)

กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนมีดังต่อไปนี้

  1. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ดังนี้

มาตรา 4 อาวุธปืน หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงานและส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง

เครื่องกระสุนปืน หมายความรวมตลอดถึงกระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีกรดแก๊ส เชื้อเพลิง เชื้อโรค ไอพิษ หมอกหรือควัน หรือกระสุน ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน หรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำหรือใช้ประกอบกับเครื่องกระสุนปืน

  1. อาวุธปืนส่วนบุคคล

มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มีใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่

มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้

มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

(2) ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ข) หรือ (ค) ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการป้องกันประเทศ หรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือรักษาทรัพย์สินอันสำคัญของรัฐ

(3) ประชาชนผู้ได้รับมอบให้มีและใช้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืนในการนั้น

มาตรา 9 ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก

มาตรา 10 อาวุธปืนที่ได้ออกใบอนุญาตให้ตามมาตราก่อน ให้นายทะเบียนทำเครื่องหมายประจำอาวุธปืนนั้นไว้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 12 อาวุธปืนซึ่งได้รับอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บนั้น ห้ามมิให้ยิงและห้ามมิให้มีเครื่องกระสุนปืนไว้สำหรับอาวุธปืนนั้น

มาตรา 30 ผู้รับอนุญาตให้สั่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน ต้องนำใบอนุญาตนั้นไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายเพื่อการนี้ก่อนสั่ง

ประชาชนจะมีและใช้อาวุธปืนต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียน สำหรับภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ยื่นคำร้องขอที่กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องขอต่อนายอำเภอท้องที่ ขออนุญาตเพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สินของตนหรือสำหรับใช้ในการกีฬาหรือล่าสัตว์ ขออนุญาตขอซื้ออาวุธปืน และขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กรณีออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (แบบ ป.3) (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

  1. การขออนุญาตการมีอาวุธปืนเพื่อเก็บ

“การเก็บ” ในที่นี้หมายถึง การมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น ผู้ใดที่ต้องการจะมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บก็จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางราชการด้วย ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บจะออกให้แก่อาวุธปืน ดังต่อไปนี้

1) อาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่า ชำรุดจนใช้ยิงไม่ได้

2) อาวุธปืนแบบพ้นสมัย เช่น ปืนที่ใช้ในสมัยโบราณ,ปืนที่เป็นของเก่าแก่

3) อาวุธปืนที่เป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืนในทางราชการ

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอาวุธปืนประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ย่อมไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บ นอกจากนี้แล้วกฎหมายจึงมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อเก็บอีกด้วย

1) ห้ามมิให้ยิงอาวุธปืนนั้น

2) ห้ามมิให้มีเรื่องกระสุนที่จะใช้สำหรับอาวุธปืนที่จะมีไว้เพื่อเก็บ (นายทวียศ ศรีเกต, 2559)

  1. การขออนุญาต

การที่ประชาชนจะมีหรือใช้อาวุธปืนได้โดยถูกกฎหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน เมื่อทางราชการอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญ ได้แก่

1) ใบอนุญาตการซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๓)

2) ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๔)

มี 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

1) ใบอนุญาตแบบชั่วคราว มีอายุ 6 เดือน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตนั้น

2) ใบอนุญาตแบบถาวร ใช้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตยังเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นอยู่ (นายทวียศ ศรีเกต, 2559)

  1. ขั้นตอนในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน

ในขั้นแรกนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธ (แบบ ป.๓) และใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนแบบชั่วคราว (แบบ ป.๔ ชั่วคราว) ให้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ให้ผู้ขออนุญาตไปจัดการหาซื้ออาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนมาให้พร้อมเสียก่อนโดยไม่ผิดกฎหมาย จากนั้นให้ผู้ขออนุญาตนำอาวุธปืนดังกล่าวไปให้นายทะเบียนตรวจสอบว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จะหามานั้นมีชนิดและขนาดตรงตามที่ระบุไว้ในแบบ ป.๓ และ ป.๔ ชั่วคราวหรือไม่ ถ้าตรง นายทะเบียนก็จะออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนอย่างถาวร (แบบ ป.๔ ถาวร) ต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องนำอาวุธปืนไปให้นายทะเบียนตรวจสอบภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ได้ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ถ้าเกินกำหนด 6 เดือนดังกล่าวไปถือว่า ผู้ขออนุญาตนั้นมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต

หมายเหตุกรณีที่ซื้ออาวุธปืนจากเจ้าของที่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ซื้อจะต้องใบขอรับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนนั้นจากนายทะเบียนก่อน จากนั้นให้ผู้ขอซื้อนำใบอนุญาตให้ซื้อไปขอรับปืนจากผู้ขายได้เลย หรือจะไปหานายทะเบียนพร้อมกันทั้งผู้ซื้อและเจ้าของปืน ที่นายทะเบียนก็จะทำการออกแบบ ป.๔ ให้ผู้ซื้อต่อไป (นายทวียศ ศรีเกต, 2559)

  1. การโอนอาวุธปืน

กฎหมายห้ามมิให้โอนอาวุธปืนให้แก่บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแม้ผู้โอนจะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนได้ แต่ถ้าโอนอาวุธปืนให้แก่ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตผู้โอนจะมีความผิด “การโอน” หมายถึง การโอนกรรมสิทธิ์อาวุธปืนของตนให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของ (นายทวียศ ศรีเกต, 2559)

  1. การรับมรดกอาวุธปืน

ในกรณีที่เจ้าของอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วถึงแก่ความตาย กฎหมายกำหนดให้ทายาทของผู้ตายหรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนของผู้ตายไปแจ้งการตายของเจ้าของปืนให้นายทะเบียนทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รู้ถึงการตายของผู้ตาย ต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ เพื่อขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ทางราชการก็จะพิจารณาว่า ทายาทหรือผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะได้จัดออกใบอนุญาตให้ต่อไป (นายทวียศ ศรีเกต, 2559)

แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปสามารถมีอาวุธปืนได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาศัยเหตุผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ให้ถูกต้อง และดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็สามารถมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้ตามกฎหมาย แต่บุคคลที่จะมีอาวุธปืนจะต้องมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การใช้เหตุผล และการใช้อาวุธปืนด้วยความระมัดระวัง ซึ่งอาวุธปืนจะมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันตัว ป้องกันทรัพย์สิน ป้องกันการถูกข่มขู่หรือข่มเหงรังแก คนรอบข้างมีความเกรงใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาวุธปืนก็ยังถือว่าเป็นอาวุธอันตราย ขัดต่อศีลธรรมและขัดต่อความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือเกิดความท้าทายจากผู้อื่นที่เป็นคู่อริ สวัสดีครับ

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด