เมื่อวันที่ 24 – 25 มีนาคม ที่ผ่านไป ประเทศเราซึ่งมีการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาไป 2 วัน แล้ววันที่ 26 มีนาคม เวลา 10.00 นาฬิกา ก็มีการเปิดประชุมเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนลงมติว่าจะรับ หรือไม่รับ คือไว้วางใจให้นายกฯ หญิงที่ร่ำรวยคนหนึ่งของประเทศ เป็นนายกฯต่อหรือไม่?
ผล…ก็คือผู้แทนฝ่ายรัฐบาลมี 319 เสียงรับรองให้เป็นต่อ ส่วนฝ่ายค้านมี 172 เสียง ไม่ให้เป็นต่อ และมี ส.ส.งดออกเสียง 7 คน
นี่ก็ถือว่าเป็นปกติธรรมดาของระบบการปกครอง ที่ต้องฟังเสียงข้างมาก
จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ขุดค้นเอาเรื่องที่ไม่เห็นด้วยของนายกฯว่าควรไม่ให้เป็น ใน 2 วัน ผมก็ฟังบ้าง แต่ไม่ได้ฟังเต็ม 100 % ของการอภิปราย เราคือตัวผม ในฐานะพลเมืองของประเทศ ฟังเรื่องแบบนี้มาก็หลายครั้ง
จึงไม่ได้ไปตื่นเต้นอะไรกับเขามากนัก ทวนลมงวดนี้อยากเอานิทานมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเอาไปเทียบเคียงอะไรกับการอภิปรายทางการเมืองที่ผ่านมา
ลองอ่านกันดูนะครับ จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว ก็ช่างมัน ถือว่าอ่านกันเพลินๆก็แล้วกัน
เรื่องนี้เป็นนิทานจีนครับ ชื่อเรื่องว่า…”คนเลี้ยงนก” อ่านดูครับ
เรื่องมีอยู่ว่า…”ฉีจิ่งกง” เป็นฮ่องเต้ที่ชอบเลี้ยงนก เขามีคนเลี้ยงนกชื่อ “จู่โจว” วันหนึ่งคนเลี้ยงนก ทำนกหลุดหนีออกไปได้ ฉีจิ่งกง โกรธมาก จึงสั่งให้เอาคนเลี้ยงนกคือ จู่โจว ไปประหารชีวิต
เย่นจื่อ ได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า…”จู่โจว มีความผิดถึง 3 ประการ เขาจึงขออนุญาต ฉีจิ่งกงว่า ขอให้เขาได้ชี้ให้จู่โจวรับรู้ถึงความผิดก่อนที่จะนำเขาไปฆ่าได้ไหม”
ฉีจึ่งกง อนุญาต
ดังนั้น…เย่นจื่อ จึงได้นำตัวจู่โจว มาชี้ให้เห็นความผิดแต่ละข้อ ต่อหน้าของ ฉีจิ่งกง
เย่นจื่อ…กล่าวว่า…ท่านเป็นคนเลี้ยงนกของฮ่องเต้ แต่ทำให้นกหลุดหนีไปได้ นี่คือความผิดข้อที่ 1
ความผิดข้อที่ 2 ความผิดของท่านต้องทำให้ฮ่องเต้ซึ่งเป็นประมุขของเรา ต้องสั่งฆ่าคนเพราะนก จึงเป็นความผิดข้อที่ 2
ความผิดข้อที่ 3 ท่านทำให้เจ้าผู้ครองนครในรัฐต่างๆที่ทราบเรื่องนี้แล้ว. คิดว่าฮ่องเต้ของเราเห็นความสำคัญของนก…มากกว่าคน จึงเป็นความผิดข้อที่ 3
เมื่อเย่นจื่อ…พูดถึงความผิดของจู่โจว จบทั้ง 3 ข้อ จึงให้ฉีจิ่งกงออกคำสั่งให้นำ จู่โจวไปประหาร
ฉีจึ่งกง…กล่าวว่า…”ไม่ประหารแล้ว ข้าขอน้อมรับคำชี้แนะของท่าน” เพราะ…ฉีจี่งกง รู้ว่า…เย่นจื่อ พูดสอนและเตือนสติฮ่องเต้
เรื่องนี้ให้คติเตือนใจคือ…ผู้มีอำนาจวาสนา ก็มักจะใช้อำนาจเผด็จการ ใครทำอะไรให้ไม่ได้ดังใจหรือใครขัดใจก็ลงโทษรุนแรง บางทีถึงกับประหารชีวิต
คนมีอำนาจ…มักมองเห็นแต่ความผิดของคนอื่น ตนทำผิด ทำชั่วอย่างไรก็มักมองไม่เห็น
ถ้าไม่เอานกมาเลี้ยง…เรื่องทั้งหมดก็ไม่เกิด
เรื่องนี้…ผู้แปล และเรียบเรียงคือ เรืองรอง รุ่งรัศมี จากหนังสือ…”รอยยิ้มในปัญญา” สำนักพิมพ์ ทางทอง
เมื่ออ่านจบกันแล้ว และเรื่องการอภิปรายก็จบแบบ…”แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” ไปแล้ว ก็หวังว่านายกรัฐมนตรีหญิงผู้ร่ำรวย จะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีนะครับ
(อย่าลืมเอานิทานเรื่องนี้ ไปให้พ่อนายกฯ อ่านด้วยก็ดีนะครับ)
**********************