33.9 C
Nakhon Sawan
วันเสาร์, เมษายน 19, 2025
spot_img

กฎหมายการละเมิดจากสิ่งปลูกสร้าง

กฎหมายการละเมิดจากสิ่งปลูกสร้างนั้น เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งมนุษย์จำเป็นต้องก่อสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัย อาคาร สำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในสมัยอดีตจะมีขนาดเล็กและมีอันตรายน้อย ประชากรที่อาศัยอยู่จำนวนไม่มาก ซึ่งต่างจากสมัยปัจจุบันสิ่งก่อสร้างมีขนาดใหญ่และสูงหลายชั้น อันตรายอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีประชากรที่อาศัยอยู่หรือทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่ม หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม หรืออาคารถล่มในเซินเจิ้น ประเทศจีน เป็นต้น ซึ่งเกิดอันตรายและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้างและกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างขึ้นมา เพื่อควบคุมผู้รับเหมาก่อสร้างให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น และยังบังคับใช้ต่อเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหากอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นเกิดการละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น มีสาระสำคัญดังนี้

ความเป็นมาของสิ่งปลูกสร้าง เช่น สิ่งปลูกสร้างกาลัมบอ เป็นสิ่งปลูกสร้างไม้สมัยยุคหินเก่าตอนล่าง ที่ซึ่งค้นพบอยู่สองชิ้นควบคู่กับเครื่องมือไม้อื่น ๆ ที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในน้ำตกกาลัมบอ ประเทศแซมเบีย ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างไม้ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบ ประมาณอายุอยู่ที่ 476,000 ปี (Barham, L. et.al. 2023) หรือโกเบคลี เทเป (Gobekli Tepe) แหล่งโบราณคดีในจังหวัดซานลิอูร์ฟา (Sanliurfa) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ถูกค้นพบเมื่อกลางทศวรรษ 1990 มีอายุราว 11,000-12,000 ปี หรือ 1 หมื่นปีก่อนคริสตกาล (Andrew Curry, 2021) ซึ่งสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยอดีตอาจอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้ ถ้ำ เพิงหน้าผา เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นเอง เช่น ก่อสร้างด้วยไม้ไผ่ ใบตอง ต้นไม้ นำมามุงพอกันฝนและกันแดดเท่านั้น

ต่อมาจะมีการก่อสร้างเป็นกระท่อมที่มีเสายกสูงขึ้น เพื่อป้องกันความชื้นหรือน้ำหลาก สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีประชากรอยู่ร่วมกันหลายคนมากขึ้นหรือมีการก่อสร้างเป็นสถานที่บูชาสิ่งมีฤทธิ์ต่าง ๆ ต่อมาถูกนำมาก่อสร้างเป็นปราสาทราชวัง ด้วยความเชื่อที่ว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนของพระเจ้า เทพเทวดา หรือสิ่งมีฤทธิ์ต่าง ๆ ฝ่ายประชาชนก็สร้างเป็นอาคารบ้านเรือนขนาดเล็กที่สามารถอยู่อาศัยได้ตามฐานานุรูปของแต่ละคน จนถึงปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย ซึ่งมองไปทางไหนก็เห็นแต่สิ่งปลูกสร้างเต็มไปหมด ซึ่งในอนาคตคงได้เห็นแผ่นดินเฉพาะที่ถนนสำหรับเดินทางเท่านั้น

ความหมายของสิ่งปลูกสร้าง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน “สิ่งปลูกสร้าง หมายถึง อาคารบ้านเรือนที่ทำโดยวิธีฝังเสาลงในดิน” และตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง “สิ่งปลูกสร้าง” หมายถึง โรงเรือน อาคาร ตึก หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมและให้หมายความรวมถึงห้องชุดหรือแพที่บุคคลอาจใช้อยู่อาศัยได้หรือที่มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ด้วย”

ดังนั้น “สิ่งปลูกสร้าง หมายถึง สิ่งที่ได้ก่อสร้างขึ้นจากพื้นดิน ใต้ดิน อากาศ อวกาศ หรือดวงดาว เป็นต้น อาจใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ใช้ประโยชน์ก็ได้”

อันตรายจากสิ่งปลูกสร้าง งานก่อสร้างเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่คงที่และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน การเพิ่มความรู้และความเข้าใจในเรื่องของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการงานก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ (KOHinter, 2025)

  1. อันตรายในพื้นที่ก่อสร้าง พื้นที่ก่อสร้างเต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายวัสดุและเครื่องจักรที่หนักและซับซ้อน พื้นที่ไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเคลื่อนที่ของยานพาหนะ และการทำงานของแรงงานที่หลากหลาย อันตรายที่เกิดขึ้นอาจรวมถึงการชนกัน การพลัดตก หรือการบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง
  2. อันตรายจากไฟฟ้าและอัคคีภัย การทำงานกับไฟฟ้าในงานก่อสร้างมีความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าช็อตและการเกิดไฟไหม้ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียหายหรือการต่อสายไฟไม่ถูกต้องสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
  3. อันตรายจากการพังถล่มของดิน การขุดดินหรือทำงานใต้ดินมีความเสี่ยงสูงต่อการพังถล่ม ทำให้แรงงานติดอยู่ใต้ดินหรือได้รับบาดเจ็บ
  4. อันตรายจากการก่อสร้างที่มีงานเสาเข็ม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์หนักและการทำงานในพื้นที่แคบ อันตรายอาจเกิดจากการชนกัน การพลัดตก หรือการบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง
  5. อันตรายจากการสร้างกำแพงพืด (D-Wall) การสร้างกำแพงพืดต้องใช้เครื่องจักรหนักและทำงานในพื้นที่แคบ อันตรายอาจเกิดจากการชนกัน การพลัดตก หรือการบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง
  6. อันตรายจากค้ำยัน การใช้ค้ำยันในงานก่อสร้างมีความเสี่ยงต่อการพังถล่มหรือการเสียหายของโครงสร้าง ทำให้เกิดอันตรายต่อแรงงาน
  7. อันตรายจากเครื่องจักรในงานก่อสร้าง เครื่องจักรหนักที่ใช้ในงานก่อสร้างมีความเสี่ยงต่อการชนกัน การพลัดตก หรือการบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง
  8. อันตรายจากทางเดินชั่วคราว ทางเดินชั่วคราวในพื้นที่ก่อสร้างอาจไม่มั่นคง ทำให้เกิดการพลัดตกหรือการชนกันได้
  9. การป้องกันอันตรายจากการพลัดตกจากที่สูง การทำงานบนที่สูงมีความเสี่ยงต่อการพลัดตก ทำให้เกิดบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
  10. อันตรายเมื่อมีการก่อสร้างพิเศษ เช่น การก่อสร้างงานอุโมงค์ การก่อสร้างในน้ำ การก่อสร้างในสภาพแวดล้อมที่พิเศษ เช่น อุโมงค์หรือน้ำ มีความเสี่ยงต่อการพังถล่ม การจมน้ำ หรือการติดอยู่ในที่แคบ
  11. อันตรายจากการรื้ออถอนอาคาร การรื้อถอนอาคารมีความเสี่ยงต่อการพังถล่ม การชนกัน หรือการบาดเจ็บจากการใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง
  12. อันตรายจากงานที่อับอากาศ งานที่อับอากาศมีความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ การถูกก๊าซพิษ หรือการติดอยู่ในที่แคบ

 สาเหตุที่เป็นปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุของสิ่งปลูกสร้าง สามารถแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลักๆ ได้ดังนี้ (Safety member, 2022)

  1. อุบัติเหตุจากตัวบุคคล ในข้อนี้สาเหตุของอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากความประมาทในการทำงาน เช่น การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม การไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ฯลฯ และจากการขาดความชำนาญในสายงาน รวมไปถึงความพร้อมของสุขภาพร่างกายและสภาวะจิตใจ เช่น อาการเจ็บป่วยที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง การขาดสมาธิจดจ่อในการทำงาน เป็นต้น
  2. อุบัติเหตุจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาพล้อมในบริเวณพื้นที่ทำงานถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะการทำงานก่อสร้างบนที่สูงจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือแม้แต่แสงสว่างก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น แสงที่สว่างจ้าจนทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัด และการทำงานในช่วงเวลากลางคืนที่แสงสว่างไม่เพียงพอจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่เกิดจากสภาพอากาศ เช่น ลมแรงส่งผลต่อการทำงานบนนั่งร้าน การทำงานในที่โล่งแจ้งที่เสี่ยงต่อการโดนฟ้าผ่าขณะเกิดฝนตก เป็นต้น
  3. อุบัติเหตุจากเครื่องมือและเครื่องจักร เนื่องจากงานก่อสร้างต้องอาศัยเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ ในการทำงาน แต่บางครั้งคนทำงานก็มักที่จะหลงลืมตรวจเช็คอุปกรณ์ก่อนทำงาน หรือไม่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ขณะที่บางกรณีก็ขาดความรู้ความชำนาญในการใช้งาน จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

แสดงให้เห็นว่าอันตรายที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างมีหลายอย่างและสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงมีกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมสิ่งก่อสร้างมากมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543, พระราชบัญญัติการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, กฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 ลักษณะอาคาร ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ที่ว่างภายนอก แนวอาคารและระยะต่าง ๆ ของอาคาร, กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 พ.ศ. 2537 ระบบป้องกันอัคคีภัย ห้องน้ำและห้องส้วม ระบบการจัดแสงสว่างและระบายอากาศ ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองกรณีฉุกเฉิน, กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535 อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ, กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2517 ประเภทของอาคารที่ต้องมีที่จอดรถ จำนวนที่จอดรถ, กฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548, กฎกระทรวง กำหนดฐานรากของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคาร พ.ศ. 2566, กฎกระทรวง กำหนดการออกแบบโครงสร้างอาคารและลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคาร พ.ศ. 2566, กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 เป็นต้น

ความรับผิดการละเมิดจากสิ่งปลูกสร้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนี้

  1. ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรา 434 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2544 “เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 วรรคหนึ่งและวรรคสองจนเป็นเหตุให้มีน้ำโสโครกซึมเข้าไปในที่ดินและบ้านของโจทก์และมีกลิ่นเหม็นไม่อาจพักอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านได้ตามปกติสุขอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสอง”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2540 “จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเสาโครงเหล็กและตาข่ายสนามฝึกกอล์ฟซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ออกแบบโครงสร้างได้ออกแบบผิดพลาดมาตั้งแต่แรกและไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาที่จะรับแรงปะทะจากพายุธรรมดาได้ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีสัญญาณบอกเหตุว่าโครงเหล็กบางส่วนล้มลงแม้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้เสริมเหล็กค้ำยันโครงเหล็กก็กระทำเพียงบางส่วนแต่โครงสร้างยังเหมือนเดิมเมื่อปรากฏว่าพายุฝนในวันเกิดเหตุเป็นพายุฝนที่เกิดขึ้นตามธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติทำให้โครงเหล็กและตาข่ายซึ่งก่อสร้างไว้บกพร่องล้มลงทับคลังสินค้าซึ่งมีสต๊อกสินค้าของบริษัท ล. ได้รับความเสียหายจำเลยที่2ซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 434 วรรคหนึ่ง”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2526 “โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของจำเลย มิใช่ให้รับผิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องนำสืบถึงฐานะความเกี่ยวพันของลูกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดจากท่อระบายน้ำจากดาดฟ้าโรงแรมชำรุดบกพร่องหรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอ จำเลยซึ่งเป็นทั้งผู้ครองและเจ้าของดาดฟ้าโรงแรมและท่อระบายน้ำดังกล่าว จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้รับประกันภัย ซึ่งได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 ประกอบด้วยมาตรา 880”

  1. การเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตราย ตามมาตรา 435 “บุคคลใดจะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น บุคคลผู้นั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2541 “โจทก์ก่อสร้างโรงงานและกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กผนังอิฐบล็อกที่พิพาทบนที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยกับพวกได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตสำนักงานสูง 4 ชั้นชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เป็นเหตุให้กำแพงพิพาทมีรอยแตกร้าวเป็นเส้น เฉพาะกำแพงช่องที่ 1 ที่ 5 และที่ 22 รอยแตกร้าวของปูนเป็นช่องใหญ่ประมาณ 1 นิ้ว ช่องผนังกำแพงที่แตกร้าวเป็นเส้นมีจำนวน 14 ช่อง และบริเวณแนวกำแพงที่โอนเอน*เข้ามาจากระดับตั้งฉากเดิม เมื่อนับจากผนังกำแพงใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลังอาคารสำนักงานของจำเลยผนังกำแพงเอนจากแนวตั้งฉากประมาณ 4 เซนติเมตรและเอน เข้าไปด้านในจนถึงจุดที่เอนมากที่สุดห่างจุดแรก 9 เมตร มีความเอนประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อความเสียหายของกำแพงพิพาทมีเพียงบางส่วน จำนวน 14 ช่องของจำนวนกำแพงพิพาทซึ่งมีทั้งหมด 22 ช่อง ถือได้ว่ามีความเสียหายมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำแพงพิพาท อีกทั้งกำแพงพิพาทยังเอียงจากแนวระดับตั้งฉากเดิมอีกด้วยประกอบกับความเอียงของกำแพงมิได้อยู่คงที่หากแต่มีการเอียงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลให้กำแพงพิพาทส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย มีโอกาสเอียงไปตามแรงดึงของกำแพงส่วนที่เอียงได้ เมื่อได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยแล้ว การให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงพิพาทและก่อสร้างใหม่ย่อมมีความเหมาะสมกว่าให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่เฉพาะส่วนที่เสียหาย แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 435 ที่บัญญัติให้บุคคลใดที่จะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น ให้บุคคลนั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้”

  1. ความรับผิดของตกหล่นหรือทิ้งขว้างจากสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 436 “บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5782/2541 “แม้สัญญาเช่าและสัญญาบริการระหว่างบริษัท ย.กับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าและผู้รับบริการจะระบุให้บริษัทผู้ให้เช่าอาคารเลขที่ 127 และผู้ให้บริการเป็นผู้ดูแลและให้บริการด้านความปลอดภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินส่วนกลางตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1เป็นผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ชั้นใต้ดิน ชั้นที่ 1ถึงชั้นที่ 3 และชั้นที่ 7 ภายในอาคารดังกล่าว และเป็นผู้ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในพื้นที่อาคารที่เช่าบริษัทผู้ให้เช่าและผู้ให้บริการดังกล่าวหาใช่ผู้ครอบครองซึ่งได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าไม่ จำเลยที่ 1ผู้เช่าอาคารนั้น ไม่ว่าจะเช่าเพื่ออยู่อาศัยหรือเพื่อประกอบการค้าขายสินค้าก็ถือได้ว่าเป็นบุคคล ผู้อยู่ในโรงเรือน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436 เมื่อธงขนาดใหญ่ที่ถูกแรงลมพัดจนหลุดและปลิว ไปถูกสายไฟฟ้าจนขาดตกลงมาถูกตัวโจทก์จนได้รับอันตรายแก่กาย เป็นธงที่ติดอยู่ที่อาคารซึ่งจำเลยที่ 1 ครอบครอง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนจึงต้องรับผิด ในความเสียหายอันเกิดแต่ธงนั้นหล่นจากอาคารดังกล่าว”

แสดงให้เห็นว่าความเสียหายการละเมิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง อาจเกิดขึ้นได้หลายกรณีด้วยกัน โดยผู้ครอบครองหรือเจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จากตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของทิ้งขว้างหรือตกหล่นจากสิ่งปลูกสร้างที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นอาจทำให้เสียชีวิต ทุพพลภาพ ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้ การชดใช้ค่าเสียหายในปัจจุบันเป็นเพียงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้กลับมาเหมือนเดิมได้ และความเสียหายที่ควรได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น เช่น ความหวาดกลัวจากการอยู่ติดหรือใกล้กับอาคารขนาดสูง ฝุ่นละออง การบังทัศนียภาพ การบังลมหรืออากาศ เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องเรียกร้องหรือร้องเรียนกับผู้ที่ก่อสิ่งปลูกสร้างอาคาร เพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่น การก่อสร้างคอนโดมิเนียมแอซตัน อโศก ซึ่งการก่อสร้างโครงการดังกล่าวยังทำให้เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็นเรือนไทยอนุรักษ์ของ สยามสมาคมฯ ได้รับความเสียหาย และหนังสือร้องเรียนว่าโครงการก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก ไม่เป็นไปตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับระยะระหว่างอาคารกับถนน ทางเท้า หรือที่สาธารณะ รวมทั้งมีหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการที่ทำให้ตัวอาคารที่ทำการสยามสมาคมฯ รั้วคอนกรีต และเรือนคำเที่ยง ได้รับความเสียหาย (TodayWriter, 2565) หรือระงับการก่อสร้างอาคาร วอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา มีการก่อสร้างอาคารผิดรูปแบบจากที่ขออนุญาตไว้ต่อทางคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในเรื่องของบันไดหนีไฟ และช่องลิฟต์ในตัวอาคาร จึงระงับการก่อสร้าง มีการลักลอบต่อเติมอาคารฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้าง ประกอบกับการร้องเรียนของประชาชนถึงความไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นกรณีที่ความสูงอาคารบดบังทัศนียภาพ ทวงคืนจุดชมวิวที่เขาส.ทร. 5 อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ (thelistGroup, 2014) ไม่เช่นนั้นกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะแสวงหาผลประโยชน์หรือประกอบธุรกิจโดยไม่สนใจความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น และเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นส่วนมากจะบ่ายเบี่ยงและไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น สวัสดีครับ

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต)

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด