asd
24.7 C
Nakhon Sawan
วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img

ที่นี่…สถานีฯ เจ้าพระยา

ตอน : แก้มลิง,อ่างพวง คือ คำตอบ…น้ำท่วม!

“ในหลวง รัชกาลที่ 9” พระราชทานแนวพระราชดำริ “แก้มลิง” เพื่อตัดยอดน้ำ หลากจากต้นน้ำเป็นระยะๆ  เพื่อเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในยามแล้งและทรงแนะนำ “อ่างพวง” ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเรียงรายลดหลั่นลงมาตามพื้นที่สูงชันรับน้ำหลากเก็บกักเอาไว้ในรูปแบบเดียวกับ “เขื่อนขนาดใหญ่”

เขื่อนใหญ่ก่อให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมหน้าเขื่อนมหาศาล

เขื่อนใหญ่ทำลายผืนป่าหรือป่าฝนหน้าเขื่อนเป็นบริเวณกว้างขวาง  ป่าไม้ที่อุดม สมบูรณ์ เช่น สะเอียบ แพร่ หรือ ป่าแม่วงก์ นครสวรรค์ จะถูกตัดทำลายเพื่อก่อสร้าง เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  และการปลูกไม้ทดแทนไม่สามารถทำได้สำเร็จแม้แต่ เขื่อนเดียวในประเทศไทย

ความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ “ป่าไม้” ที่มีมูลค่ามหาศาลต้องสูญเสียไปโดยไม่สามารถเรียกคืนได้  ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศเมืองไทยอย่างฉกาจฉกรรจ์

เขื่อนใหญ่ยังต้องใช้งบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล  ในขณะที่เงินทองใน ท้องพระคลังหรือเงินงบประมาณจากภาษีอากรของพี่น้องชาวไทยไม่พร้อมที่จะให้นักการเมืองและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องช่วยกันถลุงเงินทองของประเทศได้อีก

การสร้าง “อ่างพวง” กับ “แก้มลิง” เป็นหนทางของการประหยัดงบประมาณได้อย่างมหาศาล ได้ประโยชน์ในการป้องกันอุทกภัย   ได้ประโยชน์จากการบรรเทา ภาวะภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิดเรื่อง “อ่างพวง” เกิดขึ้นในสถานการณ์ (จะ) สร้างอ่างเก็บน้ำในแม่น้ำยม บริเวณแก่งเสือเต้น  ตำบลสะเอียบ  อำเภอสอง  จังหวัดแพร่ และเขื่อนแม่วงก์       อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์

การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนกักเก็บน้ำในลำน้ำยมและลำน้ำแม่วงก์เป็นเขื่อนขนาดใหญ่  ต้องใช้งบประมาณมหาศาล  ใช้เวลาก่อสร้างเนิ่นนานหลายปี  ต้องตัดต้นไม้ในอ่างหน้าเขื่อนมากมายนับเป็นผืนป่าใหญ่ซึ่งบ้านเมืองจะสูญเสียป่าไม้สูงค่าที่อำนวยฝนให้กับเมืองไทยอย่างประมาณค่ามิได้และไม่สามารถเรียกคืน

ทั้งยังเกี่ยวข้องกับพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าหายาก สัตว์ป่าคุ้มครอง   ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  เขตอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ  มากมายโดยไม่สามารถเนรมิตป่าและสัตว์ป่ามาทดแทนได้

ราษฎรในพื้นที่น้ำท่วมถึงต้องอพยพออกจากที่ดินทำกินเดิมที่อุดมสมบูรณ์ไปอยู่ในสถานที่ใหม่ ที่ทางราชการ (อาจ) จัดให้  แต่ไม่มีสภาพเหมือนที่ทำกินเดิม  ก่อให้เกิดความลำบากในการดำรงชีวิตต่อไปภายหลังการอพยพออกจากพื้นที่น้ำในเขื่อน (อ่าง) จะท่วมถึง

สถานที่ทำกินใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีผืนดินอุดมที่มีคุณภาพทางการเกษตร

ค่าชดเชยการรื้อถอนอาคารบ้านเรือนของราษฎรในพื้นที่สร้างเขื่อนก็มักจะไม่สมเหตุสมผล   ไม่เพียงพอหรือเทียบเท่ากับความสูญเสียที่ประชาชนส่วนน้อยที่จำใจต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่

แต่การสร้าง “อ่างพวง” ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก   ใช้งบประมาณไม่มาก    ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างสั้น   สามารถใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตร  การอุปโภคบริโภคได้อย่างรวดเร็ว

“อ่างพวง” สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณที่น่าพึงพอใจ  โดยกักเก็บรายทางไป ได้ตลอดลำน้ำ  ไม่ตั้งอยู่ในที่ใดที่เดียวจนไม่สามารถบริการน้ำทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเหมือน “อ่างพวง” หรือเขื่อนกั้นน้ำขนาดเล็กๆรายทาง

เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำหลากก็สามารถเก็บกักน้ำ  ตัดยอดน้ำหลากให้ลดน้อยลงลดหลั่นกันลงไปเป็นระยะๆตามรายทาง  ลดภาวะอุทกภัยลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แหล่งน้ำในอ่างพวง  หรือเขื่อนขนาดเล็กที่ร้อยเรียง  เรียงรายริมสายน้ำ           ก็สามารถใช้เป็นแหล่งประมงน้ำจืด  เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติ  นิยมการท่องเที่ยวทางน้ำ  ก่อให้เกิดกระแสเศรษฐกิจที่ไหลลื่นให้แก่ราษฎรในพื้นที่รอบๆอ่างเก็บน้ำ จากการประกอบอาชีพประมง  อาชีพล่องแพ  อาชีพโฮมสเตย์ในเรือนแพ  อาชีพกีฬาทางน้ำ  อาชีพร้านอาหาร  ร้านสินค้าโอท็อป  สินค้าพื้นบ้านพื้นเมืองในพื้นที่

และสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดจากอ่างพวง (เขื่อน) เก็บน้ำก็จะกระจายไปในพื้นที่มากมายหลายแห่ง  โดยไม่กระจุกตัวอยู่ที่อ่าง (เขื่อน) เก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งใดแห่งเดียว

ความเจริญทางเศรษฐกิจ  ความอุดมสมบูรณ์ของสินค้าเกษตรอันเนื่องมา     จากอาชีพของชาวบ้านรอบๆอ่างพวง (เขื่อน) เก็บน้ำก็จะขยายตัวออกไปในพื้นที่ต่างๆ         สร้างความมั่งคั่งในท้องถิ่นที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญในเขต ตำบล อำเภอ จังหวัด   ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศ  เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบ้านเมืองในอนาคต

“แก้มลิง” ก็เช่นกันที่มีประโยชน์ไม่ต่างไปจาก “อ่างพวง” และยิ่งใช้งบประมาณยิ่งน้อยกว่า “อ่างพวง” ลงไปอีก  แต่ได้ประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่อย่างมหาศาล        ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องได้รับความเสียหายจากความรุนแรงของอุทกภัยแล้วยังอำนวยประโยชน์ทางด้านการเกษตร  การอาชีพ  การท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้อย่างมากมาย

แต่ที่น่าแปลกใจคือ เรื่อง “อ่างพวง” กับ “แก้มลิง” เป็นแนวพระราชดำริของ  “ในหลวง รัชกาลที่ 9” มาเนิ่นนานหลายสิบปี  แต่กลับไม่มีส่วนราชการใด? นักการเมืองหน้าไหน? รัฐบาลชุดใด? ใส่ใจที่จะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยให้หายวับไปกับตา

เพราะผลประโยชน์ที่ติดตามมาจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ช่างหอมหวานรวยนานบานทะโรค

“เกษตรกรและราษฎรก็ต้องเศร้าโศกกันต่อไป”

***********************

บก.

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด