asd
27.4 C
Nakhon Sawan
วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img

แนวคิดและทฤษฏีของภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ ช่วง ค.ศ. 2020-2024

        ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ ช่วง ค.ศ. 2020-2024 นั้น เป็นผู้นำที่จะต้องมีการพัฒนาการมากขึ้นให้สอดคล้องกับสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มาพร้อมกับภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จะสังเกตได้จากสภาพของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีขององค์การในปัจจุบัน หากมีความเสียเปรียบในด้านของการแข่งขันเสียแล้ว อาจทำให้องค์การนั้นขาดทุนและปิดกิจการไปในที่สุด ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเกี่ยวกับภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นสิ่งจำเป็นของการวางรากฐานของความเป็นผู้นำ เพื่อการบริหารองค์การให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

กลยุทธ์ หมายถึง การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน), เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง หรือกลอุบายในการรบ, วิธีที่แยบคาย หรือพลิกแพลงในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย (Oxford Languages), แผนการ แนวทาง ที่ทำให้เกิดการกระทำเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย หรือความสำเร็จที่ได้ตั้งไว้ (ปรีดี นุกุลสมปรารถนา, 2563), วิธีหรือแผนปฏิบัติ ที่เกี่ยวกับการแบ่งสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดผลดี เป็นข้อได้เปรียบ และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์โดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด (ธงชัย สันติวงษ์, 2535) เป็นแบบแผนของวัตถุประสงค์ จุดประสงค์ หรือเป้าหมาย และนโยบายส่วนใหญ่ แผนงานสำหรับการไปถึงเป้าหมาย (Learned, et al. 1926), แผนงานซับซ้อน ที่ทำให้องค์การเป็นไปตามที่กำหนดให้เป็น ในอนาคต (Clcland and King, 1972) แสดงให้เห็นว่าคำว่า “กลยุทธ์” นั้นมีความหมายที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าจะนำกลยุทธ์ไปใช้กับอะไร เช่น กลยุทธ์ในการรบหรือต่อสู้หรือสงคราม กลยุทธ์การตลาด กลยุทธ์การหาเสียง กลยุทธ์การใช้ชีวิต กลยุทธ์การทำงาน กลยุทธ์ในการบริหารองค์กร กลยุทธ์การเจรจาไกล่เกลี่ย หรือกลยุทธ์ในการแข่งขัน ฯลฯ ทำให้ความหมายของคำว่ากลยุทธ์หลากหลายและมีความแตกต่างตามวัตถุประสงค์ของการใช้กลยุทธ์

ผู้นำเชิงกลยุทธ์ หมายถึง ความสามารถในการทำนายอนาคตด้วยมีสายตาที่กว้างไกล รักษาความยืดหยุ่นและใจกว้างพอที่จะให้อำนาจหรือรับฟังบุคคลอื่นในการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์เท่าที่จำเป็น (ทรรศนะ บุญขวัญ, 2549), ผู้นำที่มีทักษะหลายๆอย่างอยู่ในตัวทั้งความสามารถ มุมมอง ความคิด และพฤติกรรมที่ผสมผสานทั้งเหตุผลบวกจินตนาการ สามารถสร้างความสำเร็จให้เกิดกับองค์กรในแบบต่างๆ (ปรีดี นุกุลสมปรารถนา, 2563), การเป็นผู้ที่มีความสามารถในการกำหนดทิศทาง สร้างแรงบันดาลใจ กำหนดวิสัยทัศน์ได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์การ โดยยึดเป้าหมายและภารกิจขององค์การเป็นหลัก รวมทั้งสามารถถ่ายทอดผลักดันให้การบริหารเชิงกลยุทธ์ประสบความสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี (เชาวนาถ สร้อยสิงห์, 2020), กระบวนการในการกำหนดทิศทางกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่องค์กร ในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้องค์กรอยู่รอดต่อไปได้ (Dubrin, 2007), กระบวนการบริหารที่จะให้ปฏิบัติภารกิจขององค์กรให้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีขององค์กรและสภาพแวดล้อมไว้ลักษณะการบริหารเชิงกลยุทธ์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการกำหนดการปฏิบัติการ การประเมินผล  (David, 1997), ผู้นำหรือกลุ่มผู้นำระดับสูงที่มีความสามารถในการคาดการณ์ มีมุมมองที่กว้างไกลและมีความยืดหยุ่น เพื่อทำให้องค์การบรรลุเป้าหมาย Finkelstein and Hambrick, 1996) แสดงให้เห็นว่าคำว่า “ผู้นำเชิงกลยุทธ์” หมายถึง ผู้นำที่มีความคิดและสายตาที่กว้างไกล กำหนดทิศทางในอนาคต มีความยืดหยุ่น มีความสร้างสรรค์ มีจิตนาการ มีทักษะความเป็นผู้นำ มีความสามารถในการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ ยึดเป้าหมายและภารกิจขององค์กร

องค์ประกอบของผู้นำเชิงกลยุทธ์ ซึ่งมีนักปรัชญาในอดีตได้กำหนดองค์ประกอบของผู้นำเชิงกลยุทธ์เป็นที่นิยม โดยมีการพัฒนาการตามลำดับดังนี้

Michell (1987)     ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) ผู้นำเป็นกระบวนการ (2) ความถูกต้องของการใช้อิทธิพล (3) ความสำเร็จของจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

Senge, (1990) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) วิสัยทัศน์ส่วนตน (2) แรงมุ่งมั่นใฝ่ดี (3) ความมุ่งมั่นฝึกฝน (4) ความคิดวิเคราะห์สิ่งใดๆ

Dess & Miler, (1993) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) การกำหนดทิศทางขององค์การ (2) การออกแบบองค์การ (3) การปลูกฝังวัฒนธรรมขององค์การ

Nahavandi & Malekzadeh, (1993) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) แสวงหาความท้ายทาย (2) อำนาจในการควบคุม

Dubrin. (1998) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) การคิดในระดับสูง (2) การสร้างสรรค์กลยุทธ์ด้วยข้อมูลที่หลากหลาย (3) การคาดการณ์และการกำหนดอนาคต (4) การคิดเชิงปฏิวัติ (5) การกำหนดวิสัยทัศน์

Ireland and Hitt, (1999) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) การมุ่งมั่นต่อวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ (2) การใช้ประโยชน์และรักษาไว้ซึ่งความสามารถหลัก (3) การพัฒนาต้นทุนมนุษย์ (4) การสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรให้มีประสิทธิภาพ (5) การเน้นด้านคุณธรรมและจริยธรรม (6) การสร้างระบบการควบคุมองค์กรให้เกิดความสมดุล

Davies & Davies, (2004  ) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) ความสามารถในการจัดการ (2) คุณลักษณะเฉพาะ

Hitt, Ireland & Hoskission, (2007) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) การกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ (2) การบริหารทรัพยากรในองค์การ (3) สนับสนุนวัฒนธรรมองค์การที่มีประสิทธิผล (4) มุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม (5) การจัดตั้งควบคุมองค์การให้สมดุล

องค์ประกอบของผู้นำเชิงกลยุทธ์ช่วง ค.ศ. 2020-2024 มีผู้พัฒนาแนวคิดของผู้นำเชิงกลยุทธ์ในยุคปัจจุบัน ไว้ดังนี้

Kevin Roe, (2020) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) นิยามเชิงกลยุทธ์ (การสร้างวิสัยทัศน์) (2) การคิดเชิงกลยุทธ์ (แนวทางระบบ) (3) การจัดวางเชิงกลยุทธ์ (วัฒนธรรมและการควบคุม) และ (4) การกำหนดกลยุทธ์ (จริยธรรม) ซึ่งมีความสำคัญต่อการชี้นำองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

Chimakati F. Mutsoli & Edward Nzinga, (2023) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม (2) ความสามารถในการปรับตัว (3) กระบวนการเปลี่ยนแปลง (4) แนวทางการบริหารที่หลากหลาย

Suharto Suharto, (2023) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) ความชัดเจนของวิสัยทัศน์ (2) การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (3) การกำหนดกลยุทธ์ที่เป็นนวัตกรรม (4) ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง (5) การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด (6) การตรวจสอบประสิทธิภาพ (7) การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นนวัตกรรมและเพิ่มศักยภาพเพื่อผลสำเร็จ

Vidya Hattangadi, (2023) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) การแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ (2) วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ (3) การสื่อสารและการฟังอย่างกระตือรือร้น (4) ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม

David E. Atiye, (2024) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) การกำหนดแนวทางปฏิบัติ (2) การตัดสินใจและดำเนินการเชิงกลยุทธ์ (3) การจัดการและปรับแนวนโยบาย (4) ค่านิยมและวิสัยทัศน์ (5) การจัดการบุคลากรและทรัพยากรขององค์กร และ (6) แนวทางปฏิบัติทางวิชาชีพและจริยธรรม

ปรีดี นุกุลสมปรารถนา, (2021) ผู้นำเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) ความสามารถในการคาดการณ์และมีส่วนร่วมในทุกสถานการณ์ (2) มีมุมมองที่หลากหลายและกล้าเผชิญหน้าความท้าทายต่างๆ (3) ทักษะในการแปลหรือตีความสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น (4) การตัดสินใจที่เหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆ (5) ทักษะการบริหารจัดการทีมงานให้บรรลุเป้าหมาย (6) พร้อมเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา

จากแนวคิดและทฤษฎีของนักปรัชญาทั้งในยุคอดีตและยุคปัจจุบัน อาจสรุปได้ว่า ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ ควรประกอบด้วย ดังนี้ (1) การจัดการเชิงกลยุทธ์ (2) ความสามารถในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (3) วิสัยทัศน์ การปรับตัว และนวัตกรรม (4) การสื่อสารและความฉลาดทางอารมณ์

 แสดงให้เห็นว่าความเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยปัจจุบันมุ่งเน้นในเรื่องของความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว การสร้างสรรค์นวัตกรรม ความฉลาดทางอารมณ์ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร และการสื่อสาร เพื่อให้การบริหารองค์กรมีประสิทธิผลและบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้  ดังนั้นผู้นำเชิงกลยุทธ์ที่ดีจะมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงาน สามารถชักนำและสนับสนุนงานของผู้ทำงานให้ประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้ทำงานเกิดภาคภูมิใจในการทำงานและมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานอื่นต่อไป

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต)

 

 

บทความก่อนหน้านี้ผลงานนวัตกรรม ..
บทความถัดไปคำเด่นคนดัง

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด