28 C
Nakhon Sawan
วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img

ที่นี่…สถานีฯ เจ้าพระยา

โบราณว่าจะตีเหล็กให้เป็นมีดพร้า กระท้าขวาน และได้งานที่สวยงามสมใจต้องตีตอนเหล็กยังร้อน

ช่วงนี้จึงต้องปุจฉา-วิสัชนา กันถึงเรื่องอุทกภัย การป้องกัน การหลบภัย การสร้างที่อยู่อาศัยให้พ้นภัย และรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่จะแอบอิงพิงพักได้อย่างมีความสุขในช่วงอุทกภัย

เรื่องสาเหตุของอุทกภัยครั้งล่าสุดของเชียงราย(แม่สาย) ตาก(แม่สอด) เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ ที่เต็มไปด้วยโคลนมหาศาลยิ่งกว่าอุทกภัยครั้งใด  ควรที่สังคมไทยจะได้ตระหนักยิ่งกว่ากรณีใดๆ

การระดมปลูกต้นไม้เพื่อให้กิ่งใบปะทะน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพมีระบบรากเกาะดินและดูดซับน้ำฝนอย่างประสิทธิผล การระดมปลูกหญ้าคาเพื่อให้ระบบรากยึดเกาะดิน ป้องกันหน้าดินถูกกัดเซาะจากกระแสน้ำฝนบนผิวดิน

เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการโดยไม่จำเป็นต้อง “ถอดบทเรียน” อย่างที่พร่ำเพ้อกัน เพราะ“ศาสตร์ของพระราชา”ซึ่ง “ในหลวง รัชกาลที่ 9” พระราชทานไว้ให้มาแสนนานนั้น มีข้อมูลมากเกินกว่าบทเรียนผิวเผินที่เอ่ยอ้างกันโดยรัฐบาลในยุคนี้และหลายๆยุคที่ผ่านมา

บทเรียนร้ายๆเกิดขึ้นซ้ำๆกันมาแทบไม่เว้นวายในแต่ละปี

ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายเรื่องอุทกภัย ป่าไม้ถล่ม ดินโคลนทลายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนผู้คนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว

แต่ก็ไม่มีรัฐบาลชุดใดจะตั้งใจดำเนินการแก้ไขให้เหตุและปัญหาของอุทกภัยบรรเทาลง โดยไม่ต้องหวังถึงขั้นจะให้ภัยพิบัติของอุทกภัยมลายหายสิ้นจากแผ่นดินไทยไปโดยเด็ดขาด

ขอเพียงให้ฤทธิ์ร้ายของอุทกภัยบรรเทาลงถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายไม่สร้างความเสียหายจนเกินขอบเขต จนถึงขั้นมีประชาชนเสียชีวิต อาคารบ้านเรือนถูกอุทกภัยถล่มจนบ้านทั้งหลังพังยับลงกับตา

บ้านเรือนลอยน้ำไปตรงหน้าโดยไม่สามารถจะระงับยับยั้งได้

–  เพราะผู้คนไม่เข้าใจถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยในการสร้างอาคารบ้านเรือน

–  เพราะทางราชการไม่เคยแนะนำ กวดขัน ห้ามราษฎรก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ

–  เพราะราชการไม่เอาจริงเอาจังในการที่ราษฎรบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า

–  เพราะราชการไม่เคยชี้แนะถึงรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่ปลอดภัยจากสายน้ำ พายุ และภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งอย่าประมาทว่าไม่มีทางเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยในอนาคต

–  เพราะตำราเรียนไม่เคยมีการสร้างความรู้พื้นฐานของการดำรงชีวิตของคนไทยบนแผ่นดินไทยให้มีความสุขจากปัจจัย 4 เช่น บ้านอันเป็นที่อยู่อาศัย เป็นสถานที่หลบภัยที่สำคัญตลอดชีวิต

ถ้าพิจารณาโดยหลักพระพุทธศาสนาว่า “กรรมเกิดแต่เหตุ” ต้องกำจัด “เหตุ” เพื่อไม่ให้เกิด “กรรม”

“น้ำท่วมบ้านจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เพราะสร้างบ้านเสมอพื้นดิน เมื่อน้ำล้นจากแม่น้ำลำคลอง ก็ต้องไหลนองไปทั่วแผ่นดิน เมื่อพื้นบ้านพักอาศัยมีระดับเสมอพื้นดิน น้ำจะไปทางไหน? ก็ต้องไหลเข้าท่วมบ้านช่องห้องหอที่มีระดับเดียวกับพื้นดิน”

คนโบราณที่เราคิดว่าโง่! สร้างบ้านใต้ถุนสูงเพื่อให้น้ำไหลลอดไป โดยไม่ท่วมที่นั่งที่กินที่นอนที่อยู่บนเรือนซึ่งสูงพ้นน้ำ

เรือนใต้ถุนสูงซึ่งมีชั้นเดียวไม่พอเก็บข้าวของ ไม่พอสำหรับการอยู่อาศัยก็ต้องสร้าง 2 ชั้น 3 ชั้นแบบตึกแถว ถ้าอ้างว่ายังไม่มีเงินทองที่จะปลูกบ้านใต้ถุนสูงคอนกรีตหรือไม้จริง ก็ต้องปลูกเรือนด้วย ไม้ไผ่ เป็นเรือนเครื่องผูกแบบบ้านของนางอมิตดา ภรรยาแสนสวยของชูชก (ซึ่งที่จริงก็คือเรือนไม้ไผ่ของชูชกนั่นเอง)

ราคาของเรือน(กระท่อม) ไม้ไผ่ย่อมเยาว์ราคากว่าเรือนไม้กระดานหรือเรือนฝากระดาน ที่เรียกว่าเรือนเครื่องสับ

ทางราชการก็ต้องยื่นมือ ยื่นหน้า ยื่นจมูกเข้ามาช่วยอำนวยความสุขให้ราษฎรด้วยการช่วยผ่อนทุกข์ทางด้านการสร้างอาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัยให้สูงพ้นน้ำด้วยการสนับสนุนเสาบ้าน เสาเรือน เสาคอนกรีต ให้ราษฎรผู้ทุกข์ยาก

ต้องหาวิธียักย้ายถ่ายโอนงบประมาณออกมาตรการ  พระราชบัญญัติ เทศบัญญัติเพื่อให้ราษฎรต้องสร้างและสามารถสร้าง “เรือนใต้ถุนสูง,เรือนขายาว” เพื่อให้พ้นทุกข์จากภัยน้ำท่วมบ้าน ซึ่งสร้างความเสียหายให้ราษฎรเอง และยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการในด้านถุงยังชีพ การช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพสังคม การรักษาพยาบาล การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในการผลิตพืชผัก ข้าวปลาอาหารและงานอาชีพทั้งปวง ที่ต้องเสียหาย เสียเวลา เสียโอกาสในยามเกิดอุทกภัย ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่าในการกู้คืนหรือเยียวยาสถานการณ์

การช่วยเหลือขั้นต้นจึงทำให้ประหยัดงบประมาณมากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า

มีผู้แนะนำแบบบ้านเพื่อหลีกหนีสถานการณ์ทุกอภัยด้วยการเสนอให้สร้างที่จอดรถยกพื้นสูงเสมอชั้นบนของบ้าน เพื่อจอดรถหลบภัยให้พ้นน้ำ ซึ่งต้องมีเงินทองพอสมควร และมีที่ดินที่กว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างในสังคม

ในชุมชน,ในหมู่บ้าน,ในตลาดจึงควรมีสถานที่จอดรถสาธารณะที่สูง พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมสูงสุดในอดีตของชุมชน หรือบรรดาผู้มีเงิน นักลงทุน นักบุญ เจ้าสัว,มหาเศรษฐี ผู้มีวิสัยทัศน์ จัดสร้างที่จอดรถหลายๆชั้น ขายหรือให้เช่าจอดรถยนต์หนีน้ำเฉพาะเทศกาลน้ำหลากหรือตลอดปี,ตลอดไป

ในอนาคตเราต้องสร้างบ้านใต้ถุนสูง ตึกใต้ถุนโล่ง อาคารบ้านเรือนทั้งหลาย ต้องเลิกใช้ชั้นล่างของบ้านเพื่อการอยู่อาศัยหรือค้าขายอย่างเด็ดขาด! จึงจะหนีพ้นอุทกภัยได้อย่างถาวร#

***********************

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด