28 C
Nakhon Sawan
วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img

โครงการยุวชนอาสา “AI เพื่อนคู่หูวัยเก๋า ปลอดภัยจากโรค”

ผลพวงจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้และทักษะในการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคม (Social media) ได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น ซึ่งภาพรวมการใช้โซเชียลมีเดียในไทย ข้อมูลจาก “Data Reportal” ที่เก็บรวบรวมระหว่างเดือนมกราคม 2566 ถึงมกราคม 2567 ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 63.21 ล้านราย โดยมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต 88% มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรวม 49.1 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 68.3% ของประชากรทั้งประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ,2567) ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไปได้หลายช่องทาง เช่น ทางการศึกษา การประกอบธุรกิจ ความบันเทิง การค้นหาข้อมูลสุขภาพ และการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีผ่านการส่งข้อความทางสมาร์ทโฟน ซึ่งจากรายงานสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) (2567) พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตทางด้านสุขภาพ เพื่อติดตามข่าวสารและค้นหาข้อมูลสุขภาพ (ร้อยละ 76.0) ออกกำลังกาย ติดตามประเมินเกี่ยวกับสุขภาพ (ร้อยละ 35.0) และจองคิวขอรับบริการทางการแพทย์ออนไลน์ (ร้อยละ 31.7)

โครงการยุวชนอาสา “AI เพื่อนคู่หูวัยเก๋า ปลอดภัยจากโรค” เกิดจากแนวคิด Digital Disruptive ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คณะทำงานซึ่งมี ผศ.เนาวรัตน์ ปิ่นอำนาจ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวหน้าโครงการ ได้ประชุมปรึกษาหารือและร่วมกันเขียนโครงการดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากสำนักปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการบูรณาการแบบสหวิทยาการในลักษณะการนำเนื้อหาจากหลายสาขาวิชาและคณะต่างๆ คือ 1) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ 2) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/สาขาวิชาคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและแอนนิเมชัน 3) คณะบริหารและการจัดการ/สาขาวิชาการจัดการ/สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์/สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มาเชื่อมโยงเพื่อร่วมกันจัดทำแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างนักศึกษา อาจารย์และชุมชน ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งได้แก่ อบต.หัวดง อำเภอเก้าเลี้ยว และ อบต. เจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย

ด้านวัตถุประสงค์หลักของโครงการเพื่อ 1) พัฒนาและประยุกต์ใช้ Generative AI การสร้างนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ และ 3) ลดภาระการดูแลสุขภาพของญาติและคนดูแลผู้สูงอายุ จากการสำรวจข้อมูลชุมชนเกี่ยวกับผู้สูงอายุเพื่อนำมาดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ได้สร้างประสบการณ์จริงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างนักศึกษา อาจารย์ และชุมชน ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนต่างมีองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของผู้สูงอายุ ที่ถ่ายทอดให้นักศึกษาที่เปรียบเหมือนลูกหลาน ล้วนสะท้อนคุณค่าและเป็นต้นทุนในการเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจสังคมผู้สูงอายุที่จะนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ Generative AI การสร้างนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ด้านผลลัพธ์การเรียนรู้หรือทักษะด้านอื่นๆ เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต จะเป็นสิ่งที่นักศึกษานำไปใช้กับการศึกษาและนำไปดูแลผู้ปกครองและผู้สูงอายุในครอบครัวได้อย่างถูกหลักวิชาการ สำหรับอาจารย์นั้น สามารถนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนและสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ชุมชน ท้องถิ่น และสังคมต่อไป

สรุป การดำเนินโครงการยุวชนอาสา “AI เพื่อนคู่หูวัยเก๋า ปลอดภัยจากโรค” เป็นการปฏิรูประบบการเรียนการสอนให้เอื้อต่อการพัฒนาบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน แทนที่การเรียนในชั้นเรียน โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา นำความรู้ไปปรับใช้ในสถานการณ์จริงจนเกิดเป็นนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน/พื้นที่ และนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ เช่น ด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำและปัญหาคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ยั่งยืน

ผศ.ดร.สิทธิพร เขาอุ่น

อาจารย์หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา

 

อ้างอิง

 

กรุงเทพธุรกิจ. (2567). ‘คนไทย’ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว 63.21 ล้านคน ‘YouTube-TikTok’ มาแรงสุด. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2567, จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1115302

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.). (2567). สุขภาพคนไทย 2567: ความเครียด ภัยเงียบของสังคมไทย. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. พิมพ์ครั้งที่ 1. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด