โดย ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี
ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา
การทำประกันภัยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็นการเยียวยาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยจากธรรมชาติ ภัยจากอุบัติเหตุ หรือภัยจากการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งปัจจุบันการประกอบธุรกิจอาจเกิดปัญหาผลประทบจากภัยการเมือง ภัยด้านเศรษฐกิจโลก ภัยจากประเทศมหาอำนาจ หรือภัยจากสงคราม เป็นต้น ประกันภัยจึงเข้ามาเป็นตัวช่วยที่ทำให้การใช้ชีวิตหรือการประกอบธุรกิจลดความวิตกกังวลลงไปบ้าง
แต่สังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้งทางด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของบุคคล ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยเกิดความเสี่ยงในตัวของมันเอง เช่น กรณีประกันภัยโรควิด 19 บริษัทประกันภัยไม่จ่ายเงินประกันให้กับผู้เอาประกัน หรือตัวแทนไม่ส่งเงินประกันให้กับบริษัทประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยส่วนมากปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือการจัดทำเอกสารไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดของบริษัทประกันภัย หรือบริษัทประกันภัยเจตนาสร้างเงื่อนไขรายละเอียดเป็นจำนวนมากเพื่อให้เกิดช่องว่างในการไม่จ่ายเงินประกัน เป็นต้น
ซึ่งในส่วนของบริษัทประกันภัยก็มีความเสี่ยงจากผู้เอาประกันเช่นเดียวกัน เช่น ปัจจุบันมีธุรกิจรับจ้างเอาประกันภัยเกิดขึ้นและนำผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือผู้เอาประกันภัยใช้อุบายหลอกลวงเพื่อให้เกิดภัย หรือผู้เอาประกันภัยเจตนากระทำเพื่อให้เกิดภัยพิบัติต่อตนเอง เป็นต้น หรือความเสี่ยงที่เกิดจากตัวแทนของบริษัทประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนเอาประกันภัย ว่าตัวแทนประกันภัยเป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยหรือมาแสวงหาคนเอาประกันเพื่อเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยเข้าไปทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ซึ่งผลทางกฎหมายแตกต่างกันมาก เช่น ตัวแทนไม่ส่งเงินให้กับบริษัทประกันภัย หรือตัวแทนทำสัญญาผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขของบริษัทประกันภัย หรือตัวแทนตาย ล้มละลาย เป็นคนไร้ความสามารถ หรือตัวแทนโฆษณาเกินกว่าที่บริษัทประกันคุ้มครองหรือชี้แจงไม่ละเอียดหรือข้อยกเว้นไม่ครบถ้วนหรือหลอกลวง ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดจากตัวแทนเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากทั้งฝ่ายบริษัทประกันและผู้เอาประกัน เนื่องจากตัวแทนต้องทำยอด จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ดังนั้นภาครัฐจึงได้บัญญัติกฎหมายออกมาเพื่อลดความเสี่ยงหรือคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องกับการประกันภัยทุกภาคส่วน ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องการฉ้อโกงประกันภัย 4 ฉบับ คือ
(1) พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
(2) พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
(3) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และ
(4) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์หรือร้องเรียน โดยออกระเบียบว่าด้วย การรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ศ. 2564 นำเสนอตามลำดับดังนี้
- พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลประกันภัย มีดังนี้
มาตรา 108/3 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้น ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
วรรคสอง “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 108/4 บัญญัติว่า “ผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
วรรคสอง “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง”
มาตรา 108/5 บัญญัติว่า “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท เพื่อจูงใจให้ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
วรรคสอง “ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลประกันภัย มีดังนี้
มาตรา 114/3 บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้น ทำ หรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตเกิดขึ้นหรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิมและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไป ซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
วรรคสอง “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 114/4 บัญญัติว่า “ผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
วรรคสอง “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 114/5 บัญญัติว่า “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท เพื่อจูงใจให้ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
วรรคสอง “ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลประกันภัย มีดังนี้
มาตรา 45 ผู้ประสบภัยผู้ใดยื่นคำขอรับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัตินี้โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ศ. 2564
เพื่อให้การดำเนินคดีฉ้อฉลประกันภัย มีความโปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
ข้อ 4 “เรื่องร้องเรียน” หมายความว่า การร้องเรียนหรือแจ้งข้อมูลใดๆ เพื่อให้สำนักงานพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย
“คดีฉ้อฉลประกันภัย” หมายความว่า คดีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรา 108/3 มาตรา 108/4 และมาตรา 108/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และมาตรา 114/3 มาตรา 114/4 และมาตรา 114/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
แสดงให้เห็นว่าความรับผิดเกี่ยวกับคดีฉ้อฉลประกันภัยอาจเกิดขึ้นได้ทั้งบริษัทประกันภัย ตัวแทนบริษัทประกันภัย ตัวแทนผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย และผู้รับผลประโยชน์จากประกันภัย ดังนั้นผู้เอาประกันภัยควรศึกษาอย่างละเอียดก่อนซื้อประกัน เนื่องจากตัวแทนประกันจำเป็นต้องทำยอดจำนวนหน่วยประกันภัย จึงใช้กลยุทธ์ วิธีการต่างๆ ซึ่งอาจชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับตัวแทนบางท่านยังไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอ อาจแจ้งข้อมูลผิด ทำเอกสารผิด เป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยไม่จ่ายเงินประกันเมื่อท่านประสบภัยหรือตาย หากผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับการทำประกันภัย ควรติดต่อ โทร. 1186 หรือ www.oic.or.th หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือกองทุนทดแทนผู้ประกันภัย ขอบคุณครับ