33.4 C
Nakhon Sawan
วันพุธ, มกราคม 22, 2025
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์……………………………………. @เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ จัดการประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่ 10/2568 (01) ประจำเดือนมกราคม 2568 พร้อมกับจัดกิจกรรม “สวัสดีปีใหม่ 2568″ ส่งสุขจากใจ…..สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โดย ดร.ดารัตน์  ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.นิภา สุพิชญางกูร ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ นางศุภลักษณ์ ศรุติรัตน์วรกุล แรงงานจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนคณะที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐ และ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมอวยพรสวัสดีปีใหม่ 2568 มีคณะที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กรรมการ และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เข้ากิจกรรมรับของขวัญ จากใจคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมรับประทานอาหาร ด้วยความสนุก อบอุ่น ณ ห้องลักษมีเทวี โรงแรมแกรนด์วิษณุ นครสวรรค์

……………………………………………………. @ ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.นิภา สุพิชญางกูร ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ นายวีรวุฒิ บำรุงไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ผศ.ดร.กฤษณะ ดาราเรือง รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ นายชาณัฐธนพล แสงสุข ผู้จัดการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้แทนคณะกรรมการ และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมแสดงความยินดีกับ นางสาวชุติพร เสชัง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

โดยในช่วงเช้าผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้สักการะศาลพระภูมิ ศาลตา-ยาย และประกอบพิธีสงฆ์ ถวายเพลพระภิกษุสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้การบริหารงานราบรื่นและประสบความสำเร็จ และได้กล่าวอวยพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2568 พร้อมกับกล่าวขอบคุณหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่มาร่วมแสดงความยินดีและร่วมกันต้อนรับ โดยท่านผู้ว่าฯ พร้อมปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถในฐานะที่เป็นคนนครสวรรค์ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับบ้านเมือง และนำความผาสุกให้กับชาวนครสวรรค์

…………………………………. @ 11 มกราคม 2568 ดร.นิภา สุพิชญางกูร ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย ดร.สุธาสินี สุพิชญางกูร คณะทำงานด้านกิจการทั่วไปสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และ นายชาณัฐธนพล แสงสุข ผู้จัดการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมพิธีเปิด และร่วมจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธีเปิด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมออกบูธกิจกรรมร่วมกับ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา วิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ และ KTIS Group สร้างความสนุกสนานให้กับเยาวชนในจังหวัดนครสวรรค์ ณ แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

…………………………………….. @ รู้จักภาษีคาร์บอน (Carbon TAX) ระหว่างที่โลกกำลังเผชิญปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาคมโลกต่างกำหนดมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรการ เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่มาตรการด้านการเงินที่เปรียบเสมือนบทลงโทษหรือค่าปรับ ต่อสินค้าหรือบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มทำให้โลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือมาตรการทางภาษี ที่รู้จักกันว่า “ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)” ที่ไม่เพียงแต่ในต่างประเทศ ที่มีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว ในประเทศไทยเองก็กำลังจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนภายใต้ (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลายฝ่ายอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว และในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักภาษีคาร์บอนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน

ขณะนี้ (มกราคม 2568) ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดตั้งกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ จัดตั้งกองทุนภูมิอากาศซึ่งมีแหล่งเงินทุนมาจากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในการส่งเสริมโครงการ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดตั้งระบบกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) โดยให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรับผิดชอบต้นทุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle) ผ่านการดำเนินการควบคู่กันของระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) โดยกำหนดเพดานสูงสุดของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากแต่ละภาคส่วน และการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นการกำหนดต้นทุนส่วนเพิ่มสำหรับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังประกอบด้วยกลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดนของไทย (Thailand Carbon Border Adjustment Mechanism: Thai CBAM) ของไทยเพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage)

รู้จักภาษีคาร์บอน “คาร์บอน” เป็นคำที่ใช้เรียกก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์ CO2, มีเทน CH4, ไนตรัสออกไซด์ N2O, ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ SF6, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน HFCs, เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน PFCs, และ ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ NF3) ที่ถูกประเมินและรายงานออกมาในรูปของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent: CO2eq)

“ภาษีคาร์บอน” คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยสินค้าที่เข้าข่ายต้องเก็บภาษีคาร์บอน ได้แก่

1.สินค้าที่ระหว่างการผลิต มีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด (ขณะนี้ [มกราคม 2568] ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลเฉลี่ย (Baseline Emission) การปล่อยคาร์บอนของแต่ละประเภทสินค้าหรืออุตสาหกรรม)

2.สินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนเกินกำหนด หรือเรียกว่า Border Carbon Tax เป็นการเก็บเมื่อมีการนำสินค้าข้ามพรมแดน

3.สินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนระหว่างการใช้งาน

ทำไมต้องเก็บภาษีคาร์บอน ? ตามหลักการแล้วการเก็บภาษีคาร์บอน มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ต้นทุนของสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้งานหรือการบริโภคสินค้าดังกล่าว และทำให้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ต้นทุนสูงกว่า) มีโอกาสเป็นทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตสินค้า ให้พัฒนาสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการเพิ่มรายได้แก่รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศมีนโยบายจัดสรรเงินรายได้ส่วนนี้เข้าสู่กองทุน เพื่อร่วมพัฒนากิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ กำลังคน เทคโนโลยีและเงินลงทุน

…………………………………….@ กกร. คาด GDP ไทยปี 68 โต 2.4-2.9% นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกอบศักดิ์ ดวงดี ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงว่า เศรษฐกิจโลกปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตระดับ 3% ท่ามกลางความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย เศรษฐกิจโลกปี 2568 จะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยี และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี มาตรการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อจีนเป็น 60% และต่อประเทศอื่นประมาณ 10-20% ตลอดจนมาตรการตอบโต้ของบรรดาประเทศคู่ค้า เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เป็นต้นไป ที่คาดว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้นของมาตรการ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ

เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.4-2.9% ขณะที่การส่งออกในปี 2568 จะขยายตัว 1.5-2.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 2567 ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8-1.2% โดยเศรษฐกิจไทยยังอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 39.0 ล้านคน ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่จะทยอยในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 และเฟส 3 รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt   อย่างไรก็ดี จีดีพีไทยยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 104% ของจีดีพีเมื่อรวมหนี้นอกระบบ เศรษฐกิจนอกระบบที่มีสัดส่วนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี และธุรกิจ SME ขาดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขัน ที่จะรับมือกับการตีตลาดของสินค้านำเข้าทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย อาทิ ผันเศรษฐกิจเข้าสู่ในระบบ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและก้าวทันกระแสโลกและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ และเติมเครื่องมือให้ SME ปรับตัวได้  เป็นต้น

กกร.เห็นว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีโมเมนตัมและเติบโตได้ดีจากมาตรการของภาครัฐที่จะทยอยในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งมีมาตรการยกระดับรายได้ และ Safety Net ของครัวเรือนอย่างเป็นระบบ สอดรับกับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างยั่งยืน หนี้นอกระบบในประเทศไทยเป็นปัญหาสำคัญและมีความซับซ้อน จากการสำรวจโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หนี้นอกระบบเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 98,538 บาท หรือราว 13% ต่อจีดีพี ซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนในภาพรวมอยู่ที่ 104% ต่อจีดีพี  โดยร้อยละ 40 ของครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบมีบทบาทเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม หนี้นอกระบบยังมีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งเงินทุนฉุกเฉินสำหรับการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการจัดการกับปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า นอกจากนี้ 30% ของครัวเรือนที่มีรายได้จากเศรษฐกิจในระบบ ยังต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การสร้างฐานข้อมูลลูกหนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ และสร้างความโปร่งใสในการจัดการปัญหาในระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างยั่งยืน

กกร. มีความกังวลต่อแนวโน้มการค้าโลกที่คาดว่าจะมีผันผวนจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้มีการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐจึงควรเร่งใช้มาตรการอื่นภายใต้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 อาทิ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG)  เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งควรพิจารณาปรับลดกรอบระยะเวลาการไต่สวน ลดขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งให้ความสำคัญกับทบาทของภาครัฐในการทำหน้าที่ยื่นเสนอแทนภาคเอกชน เพื่อให้การป้องกันสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ภายใต้หลักการ Free & Fair ที่ส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

……………………………………….@ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพร้อมจัดงาน FTI Expo 2025 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าร่วมหารือแนวทางการจัดงาน FTI Expo 2025 ร่วมกับ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

FTI Expo 2025 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ Hall 5 – 8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Empowering Thai Industry, Elevating Thailand’s Future เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทยที่ยั่งยืน” โดย ส.อ.ท. ได้มีการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานภายใต้นโยบาย ONE FTI เพื่อนำมาบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การทำการเกษตรยั่งยืน การทำการเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และ BCG Model พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรไทยในอนาคต เพื่อยกระดับ SMEs สู่ Smart SMEs ผ่านแนวทาง 4 Go (Go Digital & AI, Go Innovation, Go Green และ Go Global) โดยเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน รวมทั้งการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอุตสาหกรรมไทยจากการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการในส่วนของเวที “Go Green” ซึ่งจะส่งเสริมการบริการด้านการเกษตร การทำการเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีมาตรฐาน งานวิจัย และองค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI) ของ ส.อ.ท. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูง ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่  เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เนื่องจากภาคการเกษตร ถือเป็นภาคที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นอย่างมาก และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ซึ่งวัตถุดิบทางการเกษตร สามารถนำมาแปรรูปใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรมได้หลากหลาย เช่น ยางพารา นำมาแปรรูปเป็นยางรถยนต์ หรือแม้แต่วัตถุดิบทางการเกษตร ก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหาร หรือพัฒนาเป็นสมุนไพรได้ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้เน้นย้ำถึงการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตไปด้วยกันระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้าง GDP ของประเทศให้แข็งแกร่ง และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

……………………………………….@ e-Book แนะนำสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2567-2569 (ไทย-อังกฤษ) พบกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ ประวัติความเป็นมา บทบาท และคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในวาระปี 2567-2569  ฉบับภาษาไทย https://url.fti.or.th/l/PyW7UQf59 ฉบับภาษาอังกฤษ https://url.fti.or.th/l/ICpFkvDTB มาร่วมทำความรู้จักสภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้มากยิ่งขึ้น……………………………………….@ หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชาณัฐธนพล  แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์ 056-245497,081-0428 934 โทรสาร 056-245 498 e-mail: [email protected], https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

 

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด