26.1 C
Nakhon Sawan
วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 6, 2025
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์……………………………………. @เมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม 2568 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมพิธีลงนามบันทึกความใจเข้าความร่วมมือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระหว่าง โรงเรียน กับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ ณ ห้องประชุมราชสิทธิเวที สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ โดยมีผู้ลงนาม ประกอบด้วย นายประทาน หาดยาว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ นายวีรวุฒิ บำรุงไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ประกิจ ณรงค์ตะณุพล ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ นายสุกิจ ดั่นเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนเขาทองพิทยาคม พร้อมด้วยพยาน 2 ท่าน คือ นายชาณัฐธนพล แสงสุข ผู้จัดการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และ ดร.สุจิต จิตติรัตนากร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เป็นแนวคิดการสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ภายใต้บทบาทความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ บริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบัน ที่สนับสนุนทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการบริหารให้กับสถานศึกษาซึ่งเป็นส่วนขยายของโรงเรียนประชารัฐ โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในเป้าหมายการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (2) การพัฒนาครู (3) การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และ (4) การพัฒนาคุณภาพการบริหาร

การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนา และสนับสนุนสถานศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาคุณภาพ และรังสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ให้สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียน อีกทั้งเพื่อให้สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง นำไปสู่การยกระดับการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

……………………………………………………. @ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ประกิจ ณรงค์ตะณุพล ในโอกาสได้รับตำแหน่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ วาระประจำปี 2568 – 2569

…………………………………. @ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ จัดประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2568 โดยได้รับเกียรติจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาจากสมาชิกในพื้นที่ โดยมี ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวเปิดการประชุม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ มีนายดัมพ์ พวงเพ็ชร์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และ นายชาณัฐธนพล แสงสุข ผู้จัดการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรีสุเทพ วงศ์วิเศษ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน นำทีมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน ร่วมต้อนรับในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ณ โรงแรมน่านกรีนเลควิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน

ในการประชุม ได้มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ดังนี้ (1) บูธสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือและผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงในงาน FTI EXPO 2025 ซึ่งผลิตภัณฑ์ในบูธสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือจะเป็นสินค้าจากสมาชิกทั้ง 4 กลุ่มจังหวัด (2) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2567 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือได้มีการหารือข้อเสนอ/มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ กรณีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉพาะจังหวัดที่ปรับเกินค่าเฉลี่ย 2.9% (3) ความคืบหน้าการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรม 4 กลุ่มจังหวัด

…………………………………….. @ สินค้าต่างชาติหั่นส่วนแบ่งตลาด ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลง เร่งขยายผลเจรจา FTA เพิ่มแต้มต่อการค้า นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 90.1 ปรับตัวลดลง จาก 91.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง จากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย และมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมและสภาพอากาศแปรปรวนในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง ต้นทุนราคาวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วม ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนก่อนหน้าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อีกทั้ง อุปสงค์ในประเทศชะลอลง สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 หดตัว 31.34%

นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง หดตัวลงจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ขณะที่กลุ่มพลังงาน ชะลอลงตามคำสั่งซื้อที่ลดลง รวมไปถึง กำลังซื้อในประเทศโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคยังเปราะบาง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ผลิตเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง

อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม ยังมีปัจจัยบวกจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมถึงผลจากการจัดทำ FTA ไทย – EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ) ได้สำเร็จ ขณะที่ผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิ์ FTA ในช่วง (มกราคม – กันยายน 2567) คิดเป็น 85.58% เพิ่มขึ้น 2.11%YoY ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ประกอบกับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และอยู่ในช่วงขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้ง การท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ การยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก การพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว (Ease of Traveling) บน Web Portal : Entry Thailand รวมถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,372 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 56.3% เศรษฐกิจโลก 52.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 40.1% ส่วนปัจจัยที่กังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 37.2% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 36.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 29.4%

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจาก 96.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 7 – 55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9) ส่งกระทบต่อต้นทุนแรงงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตามนโยบาย Trump 2.0 อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 และโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 1/2568 และแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.  เสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง War Room เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยและรับมือกับผลกระทบทางอ้อม รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดกับสหรัฐฯ

  1. ให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
  2. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม
  3. เร่งขยายผลความสำเร็จจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย – EFTA ไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายโอกาสทางการค้า

ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://fti.or.th/ids ส.อ.ท. มุ่ง “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”

…………………………………….@ จังหวัดนครสวรรค์ ประกาศห้ามเผา ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฏหมาย‼ พบเห็น แจ้ง 1784 สายด่วน ปภ. เขตริมทาง แจ้ง 1586 สายด่วนกรมทางหลวง

……………………………………….@ แจ้งเตือน พี่ น้อง เกษตรกรนครสวรรค์ กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศ ”ผู้ที่มีประวัติการเผา พื้นที่การเกษตร“ ระหว่าง 17 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2568 จะหมดสิทธิ์เข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ทุกโครงการ เป็นระยะเวลา 2 ปี

……………………………………….@วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น pm2.5‼ 1.สวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า เพื่อป้องกันฝุ่น

2.เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน การเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูงโดยเฉพาะในช่วงที่ค่าฝุ่นละออง (PM 2.5 หรือ PM 10) สูงเกินมาตรฐาน

3.หมั่นทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้านโดยทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ หรือไม้ถูพื้นที่มีน้ำยาดักจับฝุ่น

  1. เลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาวะปกติ ไม่ก่อควันดำ ข้อมูลจาก:กรมการแพทย์………………………….@ หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชาณัฐธนพล แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์ 056-245497,081-0428 934 โทรสาร 056-245 498 e-mail: [email protected], https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด