28.1 C
Nakhon Sawan
วันศุกร์, เมษายน 4, 2025
spot_img

กฎหมายการละเมิดของเจ้าหน้าที่

กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและลงโทษการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำละเมิดในหน้าที่ราชการ แล้วทำให้หน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหาย การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้น หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่และเกิดความเสียหายแก่เอกชน เป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นการไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่าง ๆ เป็นการเฉพาะตัวเสมอไป เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใด ก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น ทั้งที่บางกรณีเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจหรือความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนั้นยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมในระบบกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับ ให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นด้วย ซึ่งระบบนั้นมุ่งหมายแต่จะได้เงินครบโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อแต่ละคน กรณีเป็นการก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนกำลังขวัญในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาในการบริหาร เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควร เพราะเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดแก่ตน อนึ่ง การให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยังมีวิธีการในการบริหารงานบุคคลและการดำเนินการทางวินัยกำกับดูแลอีกส่วนหนึ่ง อันเป็นหลักประกันมิให้เจ้าหน้าที่ทำการใด ๆ โดยไม่รอบคอบอยู่แล้ว ดังนั้นจึงสมควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะ เมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดของแต่ละคนมิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ มีสาระสำคัญดังนี้

  1. การกระทำที่ถือเป็นการละเมิด มีหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการ คือ (กรมการปกครอง กระทรวงหาดไทย) คือ (1) กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ (2) กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย และ (3) บุคคลอื่นได้รับความเสียหายและความเสียหายจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำนั้นด้วย

โดยการกระทำที่จะเป็นละเมิดจะต้องครบองค์ประกอบทั้งสามข้อ หากขาดข้อใดข้อหนึ่งย่อมไม่เป็นการกระทำละเมิด เมื่อไม่ละเมิดย่อมไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย และจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในหน้าที่ราชการแล้วทำให้หน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหายเท่านั้น จึงจะใช้หลักเกณฑ์ วิธีการในความรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งจะต้องมีพฤติการณ์จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 8 การที่จะพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ หรือศาล ซึ่งความประมาทเลินเล่อนั้นเป็นการกระทำที่มิใช่โดยเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจำต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยวิสัย หมายถึง สภาพเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ เช่น การเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือชั้นผู้น้อย เป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา เป็นผู้ประกอบวิชาชีพหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่ง และหมายรวมถึงระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นั้นด้วย เป็นต้น (กรมการปกครอง กระทรวงหาดไทย)

  1. องค์ประกอบการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ องค์ประกอบของการกระทำอันเป็นละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 มีอยู่ 3 ประการ คือ (น้ำฝน ราชสมบัติ, 2553)

(1) ต้องมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำโดยละเมิดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

1) กระทำโดยจงใจ หมายถึง การกระทำโดยรู้สำนึกถึงการกระทำของตนว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ตาม อย่างไรก็ดี การกระทำโดยจงใจมิได้หมายเลยไปถึงกับว่าจะต้องเจาะจงให้เกิดผลเสียอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นโดยเฉพาะ เช่น กรณีรู้อยู่แล้วว่าผิดระเบียบกลับมีคำสั่งอนุมัติ และนอกจากนี้ยังมีคำนิยามคำว่าประมาทเลินเล่อตามมาตรา 54 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะต้องพิจารณาต่อไปด้วย

2) การกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หมายถึง การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

(2) ต้องเป็นการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 กำหนดบทนิยาม เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ โดย

1) เจ้าหน้าที่หมายความว่า “ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการ หรือฐานะอื่นใด” และ

2) หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า “กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย โดยบุคคลทุกประเภทที่ทำงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเจ้าหน้าที่ เช่น บุคคลที่ต้องช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้บังคับแห่งกฎหมายนี้ทั้งสิ้น

(3) ต้องเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง และการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือแก่รัฐขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หน้าที่อาจเกิดจากระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้ ซึ่งการกระทำหรือละเว้นการกระทำในหน้าที่ดังกล่าว หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือแก่รัฐก็เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่

  1. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มี 2 กรณี ดังนี้ (สิงหนาท คงทรัพย์, 2564)

(1) กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก

– หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 5 เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ขับรถยนต์ของทางราชการไปติดต่องานราชการแล้วไปชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย กรณีเช่นนี้หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในผลแห่งละเมิดนั้นบุคคลภายนอกหรือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แต่จะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

– เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัวต่อผู้เสียหาย ในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่มิได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ขับรถยนต์ของทางราชการไปทำธุระส่วนตัวโดยมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้วเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับบุคคลภายนอก ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

– การไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหน้าที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 8 คือ

1) หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ กรณีเจ้าหน้าที่กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ถึงขั้นร้ายแรง หน่วยงานของรัฐไม่สามารถไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ได้ และ

2) จำนวนเงินที่เรียกให้ชดใช้หรือไล่เบี้ยพิจารณาจาก ระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี ตามมาตรา 8 วรรคสอง “สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้” หรือความผิดหรือความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ตามมาตรา 8 วรรคสาม “ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย

–  กรณีละเมิดเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน เจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ตามมาตรา 8 วรรคสี่ “ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

(2) กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ คือ

1) ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้นำบทบัญญัติกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกตามมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 10 และ

2) ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 10

  1. การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีสาระสำคัญดังนี้ (สิงหนาท คงทรัพย์, 2564)

(1) การร้องขอให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 คือ

1) เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับคำร้องจากบุคคลภายนอก กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือไม่

2) หากผลปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกให้กำหนดค่าเสียหาย และแจ้งให้แก่ผู้เสียหายที่ยื่นคำร้อง

3) หากหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของตนไม่ต้องรับผิดก็ให้ยกคำร้องและแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ

4) หากผู้เสียหายไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐให้มีสิทธิฟ้องศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน

(2) การเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้เงินให้แก่หน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 12 คือ

1) หน่วยงานของรัฐมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชำระเงิน และ

2) กรณีเจ้าหน้าที่ไม่ชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด หน่วยงานของรัฐมีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง

(3) กรณีเจ้าหน้าที่ไม่สามารถชดใช้เงินได้ในคราวเดียว ตามมาตรา 13 คือ ให้เจ้าหน้าที่ผ่อนชำระเงินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยให้พิจารณาผ่อนผันตามความเหมาะสม และต้องมิใช่กรณีที่เกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ และเป็นกรณีที่ขอผ่อนชำระเต็มจำนวนที่ต้องรับผิด รวมทั้งดอกเบี้ยค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี

  1. การให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐจะต้องเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้จ่ายแก่ผู้เสียหายไปแล้ว มี 2 วิธี คือ (น้ำฝน ราชสมบัติ, 2553)

(1) การใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐและหรือกระทรวงการคลังเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐอาจมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องชำระเงินให้แก่ทางราชการเพื่อชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

(2) การฟ้องคดีต่อศาล ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเรียกให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทางราชการแล้ว แต่เจ้าหน้าที่นั้นไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการ และหน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์ที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองดังกล่าวข้างต้นหน่วยงานของรัฐก็อาจฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้นต่อศาลเพื่อไล่เบี้ยหรือเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้

  1. อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 10 ได้กำหนดอายุความที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล เรียกให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐ ดังนี้ (ฐิติพร ป่านไหม, 2565)

(1) อายุความ 2 ปี กรณีที่เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยสั่งการว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งหรือหลายรายจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือว่าวันที่หน่วยงานของรัฐได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการดังกล่าวนั้นเป็นวันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเป็นวันเริ่มนับอายุความที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิด

(2) อายุความ 1 ปี กรณีหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากไม่เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เมื่อรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วกระทรวงการคลังเห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้น อายุความเริ่มนับเมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

แสดงให้เห็นว่าการกระทำความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในหน้าที่ราชการแล้วทำให้หน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหายเท่านั้น และต้องมีพฤติการณ์จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น จึงจะเข้าหลักเกณฑ์พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและปฏิบัติหน้าที่ในราชการ หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ต้องรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างประชาชนทั่วไป ซึ่งคล้ายกับหน่วยงานเอกชนระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากลูกจ้างทำละเมิดในขณะปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง โดยนายจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิด แต่นายจ้างเมื่อได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้าง ดังนั้นลูกจ้างไม่ว่าจะหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนก็ควรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดหรือเมื่อเกิดการละเมิดแล้ว จะได้รู้หน้าที่และความรับผิดของตนเอง อันจะนำมาซึ่งการลดความขัดแย้งขึ้นในองค์การ สวัสดีครับ

 

ผศ.ปองปรีดา ทองมาดี

(ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต)

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด