28.1 C
Nakhon Sawan
วันศุกร์, เมษายน 4, 2025
spot_img

สภาอุตสาหกรรมฯ สัมพันธ์

ผู้อ่านสวรรค์นิวส์และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์……………………………………. @ ผลปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งดัชนีอุตฯ ขยับขึ้น หนุนมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 91.6 ในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีปัจจัยลบจากการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีนเข้ามาแข่งขันในประเทศคู่ค้ามากขึ้นประกอบกับรถยนต์ส่งออกบางรุ่นกำลังจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ โดยในเดือนมกราคม 2568 มียอดการส่งออกลดลงร้อยละ 24.63 (YoY) ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน กระทบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เหล็ก อลูมิเนียม อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมลดลง กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนการผลิต เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพารา เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังยืดเยื้อ ยังคงส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนและกระทบกับต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ รวมไปถึงมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันผู้ประกอบการไทยให้เผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,350 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศร้อยละ 39 ราคาน้ำมันร้อยละ 34.3 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) ร้อยละ 33.8 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 21.9 ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลกร้อยละ 51.9 และเศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 50.1

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.2 ในเดือนมกราคม 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 3 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ผ่านโครงการ Thailand Summer Festivals อาทิ กิจกรรม Maha Songkran World Water Festival 2025 และงานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวลในเรื่องสงครามการค้ารอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นราคาสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียมที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 และแนวโน้มสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังไม่มีข้อสรุปที่นำไปสู่สันติภาพ อาจกลายเป็นปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างสู่ระดับโลก

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  1. ขอให้ภาครัฐเร่งกำหนดยุทธศาสตร์และแผนเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการเจรจาต่อรองการค้าในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน โดยมีการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมเป็นทีมเจรจาต่อรองการค้ากับสหรัฐฯ
  2. ขอสนับสนุนรัฐบาลในการออกมาตรการช่วยค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในประเทศ รักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการทำมาหากิน
  3. ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและพัฒนาระบบการยกขนถ่ายตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ในโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกสินค้า

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://fti.or.th/ids

……………………………………………………. @ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นับถอยหลัง….ตั้งเป้าปิดเคาน์เตอร์ Walk In รับคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลแบบกระดาษทั่วประเทศ เปลี่ยนเป็นเข้าช่องทางออนไลน์ 100% ผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลดิจิทัล (DBD Biz Regist) แก้ปัญหาการจองคิวจดทะเบียนนิติบุคคลที่ในแต่ละวันสามารถรับได้จำนวนจำกัด ช่วยให้การจดทะเบียนรวดเร็วขึ้น ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา  ปิดรับการยื่นจดทะเบียนแบบกระดาษโดยถาวร ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 แต่ยังคงมีเคาน์เตอร์ให้คำปรึกษาเรื่องเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นจดทะเบียนทางออนไลน์ และแนะนำเรื่องการกรอกแบบฟอร์มจดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) อยู่

…………………………………. @ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าพบประธานหอการค้าไทย-จีน หารือความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2568 นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และที่ปรึกษาสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน นำคณะกรรมการสถาบันฯ ได้แก่ นายสุพจน์ ชัยวิไล นางสาวยศรา ลิมป์ไพฑูรย์ นายถาวร กนกวลีวงศ์ นางบัญชุสา พุทธพรมงคล ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง และนายชุตินันท์ สิริวสุวัตร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จำกัด เข้าพบ นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน และคณะผู้บริหาร เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างกัน  ณ ชั้น 9 อาคารหอการค้าไทย-จีน (Thai CC) กรุงเทพฯ

สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน ได้แนะนำบทบาทของสถาบัน โดยมีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย ผ่านการใช้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภายในประเทศ รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย-จีน ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการเป็นศูนย์ข้อมูลที่สำคัญให้กับสมาชิก เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการสร้างเครือข่ายระหว่างสมาชิกและนักลงทุนจากจีน โดยเฉพาะการช่วยเหลือ SMEs ไทยให้สามารถขยายธุรกิจไปสู่ตลาดสากลได้

การหารือในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการร่วมมือเพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยและจีน ในการพัฒนาธุรกิจและขยายการลงทุนในอนาคต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย-จีน และสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว

…………………………………….. @ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชิญสมัครเข้าร่วมหลักสูตรพลังงานสำหรับผู้บริหาร (Executive Energy Program) ประจำปี 2568 รุ่นที่ 10 ภายใต้การพัฒนาหลักสูตรฯ โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของพลังงาน, เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ด้านพลังงานจากผู้ที่มีประสบการณ์ให้กับผู้บริหารในภาคอุตสาหกรรม, เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายด้านพลังงาน ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน  หลักสูตรเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2568

สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://bit.ly/41RQEv0

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ น.ส.กัญญา บำรุงจิตร์ และ น.ส.นิรมล เจียงวงษ์ โทร. 02-345-1187, 1248 และ  081-889-5511 E-Mail : [email protected] Line ID : EEP_IIE หรือศึกษาข้อมูลหลักสูตรฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://iie.fti.or.th

…………………………………….@ หากคุณต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปปรับใช้กับองค์กร บอกเราได้ที่ https://forms.gle/FnzYL8AnrtScMLRd6 เราจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง สรรหา จับคู่ งานวิจัย/นวัตกรรม/เทคโนโลยี/ผู้เชี่ยวชาญ ให้ตรงใจคุณ ฟรี!! เฉพาะสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เท่านั้น

สอบถามเพิ่มเติม สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย E-Mail: [email protected] โทร. 02-345-1238 ถึง 40 LINE: https://lin.ee/Qg3qTN3

……………………………………….@ งานแสดงสินค้า/บริการในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” Food & Hospitality Thailand 2025 สนใจจองพื้นที่และขอใบเสนอราคาค่าพื้นที่งานแสดงสินค้าได้ที่ https://bds.sme.go.th/Service/Detail/1402

SMEs ที่สนใจรับบริการซื้อพื้นที่ออกงานแสดงสินค้า สามารถเข้าร่วมโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รับเงินสนับสนุนค่าพื้นที่สูงสุด 80% มูลค่าสูงสุดต่อราย 500,000 บาท / สนับสนุนต่อปีสูงสุด 200,000 บาท

SMEs สนใจขึ้นทะเบียนโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” ได้ที่ https://bds.sme.go.th ติดต่อสอบถามงานแสดงสินค้า Informa Market น.ส.สุภาภรณ์ อังศรีสุรพร โทรศัพท์ : 082-4919166 E-Mail : [email protected] ติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการ BDS เพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์มือถือ : 083-847-6114  โทรศัพท์ : 02-345-1108 E-Mail : [email protected] เว็บไซต์ : https://fti.or.th/

มาเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เข้าถึงเครือข่ายโรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล และคาเฟ่ชั้นนำ พร้อมพบปะนักธุรกิจจากไทยและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์จัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ

…………………………………@โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS มาตรการการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ศึกษารูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของหน่วยงานภาครัฐใน รูปแบบเดิม ซึ่งเป็นลักษณะการสนับสนุนงบประมาณผ่านหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจในรูปแบบ “โครงการ” ที่ผู้ประกอบการ MSME จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมตาม หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และข้อจำกัดในแต่ละโครงการ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ความต้อง การในการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละรายได้อย่างตรงจุด

สสว. จึงได้เริ่มปรับรูปแบบการดำเนินการ โดยเน้นความต้องการของผู้ประกอบการเป็นที่ตั้ง (Demand Approach) โดยให้ผู้ประกอบการได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่จะสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการ ทางธุรกิจ (Business Development Service Provider : BDSP) ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตนเอง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ https://bds.sme.go.th  สสว. จะรวบรวม BDSP ที่เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชน  ที่ให้บริการครอบคลุมในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและบริหารธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่าย และการตลาด และการพัฒนาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สสว. จะช่วยเหลืออุดหนุนงบประมาณใน การพัฒนาธุรกิจแบบร่วมจ่าย (Co-payment) นอกจากนี้เมื่อผู้ประกอบการเลือกใช้บริการที่ต้องการได้โดยตรงผ่านระบบแล้ว สสว. จะช่วยเหลืออุดหนุนงบประมาณในการพัฒนาธุรกิจแบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในวงเงินช่วยเหลืออุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขการชำระคืน (Grant) รายละ 500,000 บาท โดยสามารถยื่นขอรับความช่วยเหลืออุดหนุนได้ในสัดส่วน ร้อยละ 50 – 80 สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อผู้ประกอบการใช้ บริการเสร็จสิ้นแล้วสามารถยื่นขอเบิกเงินช่วยเหลือจาก สสว. ตามเงื่อนไขผ่านระบบได้โดยตรง ทั้งนี้หากมีวงเงินต่อปีคงเหลือระบบก็จะจัดเก็บวงเงินเพื่อใช้ในปีต่อไป จนกว่าจะครบวงเงินรวมต่อราย ๆ ละ 500,000 บาท

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ MSME ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ MSME และเป็นการบูรณาการและผลักดันการส่งเสริม MSME ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้สามารถ เติบโตและแข่งขันได้ในระบบสากล สสว. จึงได้ดำเนินมาตรการการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ตั้งแต่ปี 2565 มาจนถึงปัจจุบัน………………………………….@ หน่วยงานที่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์สามารถฝากข่าวผ่านสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หรือต้องการสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อสอบถามได้ที่ นายชาณัฐธนพล  แสงสุข ผู้จัดการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์ 056-245497,081-0428 934 โทรสาร 056-245 498 e-mail: [email protected], https://www.facebook.com/Nakhonsawan.fti

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด