30.6 C
Nakhon Sawan
วันเสาร์, เมษายน 19, 2025
spot_img

ถึงพี่น้องเกษตรกร…ชาวนา ชาวไร่อ้อย

เรายังมีความสุขกับ ประเพณีสงกรานต์  ที่ยังดำเนินไปอยู่ในเวลานี้    กว่าจะเลิกรากันไปก็เห็นจะถึงวันศุกร์ที่ 25 เมษายน โน้น !

‘ทวนลม’ งวดนี้ผมมีเรื่องอยากจะมาคุยกับพี่น้องชาวเกษตรกร โดยเฉพาะพี่น้องชาวนากับชาวไร่อ้อย

อาชีพเกษตรกร เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก โดยเฉพาะที่ดินกับน้ำ

และอาชีพนี้มีความเสี่ยงสูง  เมื่อนำไปเปรียบกับอาชีพทางอุตสาหกรรม  เพราะนอกจากต้องใช้ที่ดิน ใช้น้ำมากแล้ว  อุณหภูมิหรือเรื่องภูมิอากาศก็มีผลต่ออาชีพนี้มาก

คิดเปรียบเทียบดูก็ได้ว่า  ถ้าเราจะหารายได้สัก 1 หมื่นบาท  ถ้าเป็นอาชีพทางอุตสาหกรรม  เราอาจใช้ทรัพยากรไม่มาก เช่น นำเศษเหล็กมาตีเป็นมีดสวยๆสักเล่มหนึ่ง   เราก็ใช้เชื้อเพลิง ใช้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร  ใช้เวลาก็ไม่มาก   เพียงวันสองวัน  ใช้แรงงานคนเพียงคนสองคนก็ทำได้แล้ว

แต่ถ้ามีอาชีพเป็นชาวนา ชาวไร่อ้อย  ถ้าจะหาเงิน 1 หมื่นเท่ากัน  ต้องใช้ที่ดินกี่ไร่ ?  ใช้น้ำกี่ลูกบาศก์เมตร ?  ใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงมากมายเพียงใด ?   และต้องใช้คนกี่คน ? ใช้เวลาอย่างต่ำๆก็ประมาณเกือบ 4 เดือน ถ้าเป็นอ้อยก็เกือบปี

ครับ…ถึงอย่างไรก็ยังต้องมีเกษตรกร คือชาวนา ชาวไร่อ้อย

คราวนี้เราลองมาช่วยกันคิดดูว่า  จะทำอย่างไรให้อาชีพนี้ยังต้องมีอยู่  ยังต้องการสร้างความร่ำรวยให้กับคนในอาชีพนี้   ได้ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆเขาได้บ้าง ?

ในประเทศที่เขาพัฒนาไปแล้ว เขาจะให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตรกรรมมาก   เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่าอาชีพอื่น  รัฐต้องดูแลมากเป็นพิเศษ   เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีอาหารมาบริโภคกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้… สิ่งที่เราต้องดูแลคือ  อย่างแรกจะต้องให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองได้อย่างไร ?   เพราะที่ดินเป็นต้นทุนสำคัญยิ่งของอาชีพ

ต่อมาก็แหล่งน้ำ เพราะพืชทุกชนิดจะเจริญเติบโตให้ผลผลิตดี   น้ำก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะน้ำจะไปช่วยย่อยสลายสารอาหารในดินให้รากพืชดูดขึ้นไปหล่อเลี้ยงลำต้น ผล ดอก ใบ  รองลงมาอีกก็เมล็ดพันธุ์

แผ่นดินบนโลกใบนี้มีอายุมาหลายหมื่นแสนล้านปี  ใช้กันมาจนที่ดินช้ำไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการดูแลดินเป็นกรณีสำคัญในอันดับต้นๆ

ประเทศไทยเรา อาชีพเกษตรกรรม ต้องใช้ที่ดินที่ใช้ปลูกพืชทุกชนิด  คิดแล้วมากเป็นอันดับหนึ่ง  แต่สร้างรายได้น้อยกว่าอาชีพอุตสาหกรรมมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้  เราจึงต้องมาคิดแล้วว่า  ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำของฐานะคนในสังคม  เราต้องดูแลอาชีพเกษตรกรรมให้มากกว่าอาชีพอื่นๆ

และคนในอาชีพเกษตรกรรมก็ต้องพัฒนาตนเองให้มากกว่าคนอื่น  เพราะเป็นอาชีพที่ต้นทุนสูง  แต่ให้รายได้ต่ำ

ยิ่งช่วงนี้มีเรื่อง PM 2.5 ขึ้นมารุกรานคนในสังคมมากขึ้นเพราะเรื่องผงฝุ่นมหาภัย

อาชีพชาวนา กับชาวไร่อ้อย จึงเป็นจำเลยของสังคม เพราะต้องเผาซากพืชคือฟาง กับใบอ้อย

ชาวนากับชาวไร่อ้อย ก็มีข้ออ้างว่าถ้าจะทำอาชีพนี้

อย่างไรเสียก็ต้องเผาฟางกับใบอ้อย    นั่นเท่ากับว่าถ้าจะกินข้าว จะกินน้ำตาล  คนทั้งประเทศก็ต้องยอมทนสูดอากาศเป็นพิษที่มีฝุ่นผงละออง PM 2.5 เข้าปอดกันทุกคน

เตรียมตัวเป็นมะเร็ง เป็นถุงลมโป่งพองกันทุกคนในอนาคต

รัฐบาลจะออกมาตรการรุนแรงกับคนเผาฟาง เผาใบอ้อย ไม่มีทางชนะเลย

ดังนั้น วันนี้ไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว ฝุ่น PM 2.5 ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข

นั่นคือ ผู้บริโภคข้าว และน้ำตาล ต้องยอมจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อผลผลิตจากท้องนาท้องไร่  เพื่อจะได้นำเงินไปสนับสนุนเกษตรกร ในการกำจัดฟางและใบอ้อย เราจะผลักภาระไปให้พี่น้องเกษตรกรไม่ได้ เพราะต้นทุนและความเสี่ยงเขาสูงอยู่แล้ว

พี่น้องเกษตรกรชาวนา และชาวไร่อ้อย ก็ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิด ว่าต่อไปนี้การมีอาชีพนี้ ก็ต้องเลิกเผา

อ้างอะไรไม่ได้ทั้งนั้น

รัฐบาลก็ต้องนำเงินที่เพิ่มจากภาษีที่เราจ่ายไปในฐานะผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มในราคาข้าว ราคาน้ำตาล ไปสนับสนุนเกษตรกร โดยทำนาแบบไม่เผา ทำไร่อ้อยแบบไม่เผา เขาต้องเพิ่มต้นทุนอะไรบ้าง เพื่อจะไม่เผาฟาง เผาใบอ้อย

เราคิดอะไรได้มากแล้วเพียงแค่เรื่องเผาฟาง เผาใบอ้อยคงไม่ลำบากยากเข็ญจนคิดแก้กันไม่ได้

สรุป…ผู้บริโภคข้าว และน้ำตาล ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเอาเงินไปให้ชาวนาชาวไร่ ลงทุนทำนาทำไร่อ้อยโดยไม่เผาฟางข้าวและใบอ้อย

ถ้าไม่อยากตายกันแบบผ่อนส่ง   ถึงอย่างไรก็ต้องมาช่วยกันรับผิดชอบ

ชาวนาญี่ปุ่น ทำนาไม่เคยมีใครเผาฟางเลย เพราะถ้าเผา ไม่ว่าเผาอะไร คนในประเทศเขาไม่ยอมกัน เพราะเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องสำคัญของทุกคน

รู้กันไว้ซะด้วย !

                   …………………………………………

ติดตามเราที่

149แฟนคลับชอบ
spot_img

ข่าวลาสุด